มข.ปิดโครงการ U2T นำองค์ความรู้/นวัตกรรม พัฒนา 135 ตำบล ต่อยอดสู่ความยั่งยืน

________เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เวลา 11.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดพิธีปิดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1 ผ่านระบบออนไลน์ โปรแกรม Zoom Meeting โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ  รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ  กล่าวรายงานผลการดำเนินงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1   รองศาสตราจารย์วิชุดา ไชยศิวามงคล  ผู้รับผิดชอบการประเมินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1  นำเสนอผลประเมินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1  นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวแสดงความรู้สึก กล่าวขอบคุณผู้ดำเนินการและผู้ร่วมโครงการ U2T ระยะที่ 1 และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการในระยะต่อไป และ รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธีปิดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1 โดยมีผู้ร่วมในพิธีปิดประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณบดี 19 คณะ ผู้บริหารและผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 135 ตำบล และผู้ได้รับจ้างงาน

ศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ

________ศาสตราจารย์ ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ  กล่าวว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นหน่วยบูรณาการโครงการ (System Integrator) การจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน และการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) การบริหารโครงการ ประกอบด้วยการจ้างงาน 20 อัตราต่อตำบล และการดำเนินงานโครงการ กิจกรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตามศักยภาพและความต้องการของพื้นที่ โดยดำเนินการใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพ 2) การสร้างและพัฒนา Creative Economy 3) การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy และ 4) การนำองค์ความรู้ไปบริการชุมชน รวมทั้งกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่ผู้ได้รับการจ้างงานภายใต้โครงการนี้ กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 11 เดือน (กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2564)”

________มหาวิทยาลัยขอนแก่น รับผิดชอบจำนวน 135 ตำบล ใน 13 จังหวัด และเป็นแม่ข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคอีสานตอนบน ดำเนินงานโครงการในพื้นที่ รวม 395 ตำบล เกิดการจ้างงงานคนในพื้นที่ ตำบลละ 20 คน รวมทั้งสิ้น 3127 คน แบ่งเป็นประเภท นักศึกษา จำนวน 880 คน บัณฑิตจบใหม่ จำนวน 1375 คน และประชาชน จำนวน 872  คน ในการดำเนินงานดังกล่าว  ได้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการจากหลายหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 9 แห่ง จัดการประชุมสัมมนาวิชาการ “การสร้างชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability for all) : การถอดบทเรียน University to Tambon (U2T) สู่ความยั่งยืน ในวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2564 โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการผลงาน ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม ที่เกิดจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย กว่า 152 นิทรรศการ เพื่อเป็นเวทีในการต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน”

รองศาสตราจารย์วิชุดา ไชยศิวามงคล  ผู้รับผิดชอบการประเมินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ระยะที่ 1 

________รองศาสตราจารย์วิชุดา ไชยศิวามงคล  กล่าวสรุปผลการประเมินโครงการ U2T-KKU ที่ดำเนินการระหว่าง ม.ค. – ธ.ค. 2564  TSI – USI – RSI NE ตอนบน ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย วัตถุประสงค์ของโครงการ   แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินโครงการ  ผลการดำเนินงาน  และสรุปปัญหาด้านระบบข้อมูล โดยได้กล่าวถึงผลผลิตของโครงการ U2T  ที่ก่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน ได้แก่ การพัฒนาสัมมาชีพและสร้างอาชีพใหม่ หรือการยกระดับสินค้า OTOP/อาชีพอื่นๆ  การสร้างและพัฒนา Creative Economy หรือ การยกระดับการท่องเที่ยว  มีการนำองค์ความรู้ไปช่วยบริการชุมชน และการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม/Circular Economy โดยการเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน ที่ส่งผลต่อการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของตำบลเป้าหมาย  ประการต่อมา เกิดการจ้างงานที่ตอบสนองต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ โดยในระยะแรกดำเนินการใน 3,000 ตำบลมีการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา ตามความหมาะสมของแต่ละตำบล รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 60,000 คน  และทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมในพื้นที่ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและชุมชน”

นายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น

________นายจารึก เหล่าประเสริฐ  กล่าวว่า  “จังหวัดขอนแก่น ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก โครงการจ้างงาน มหาวิทยาลัยสู่ตำบล จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมให้ภาคเกษตรในชุมชนได้ฟื้นฟูและเติบโตได้ เพิ่มโอกาสสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นตัวอย่างในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ได้ติดตามผลงานของ U2T ทางเว็บไซต์ที่น้องๆ นักศึกษาได้จัดทำขึ้นมาโดยตลอด  ขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้บริหาร คณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการทุกท่าน ที่ได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ซึ่งได้เข้าไปแก้ไขปัญหาฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่ร่วมกับกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง ขอบคุณผู้ได้รับจ้างงาน ทั้งนักศึกษา บัณฑิต และประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุดโครงการ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลได้ทำให้เห็นแล้วว่า แต่ละพื้นที่มีศักยภาพเพียงใด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโอกาสและประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดพื้นที่ต่อไป”

รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

________รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  กล่าวว่า  “จากการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ U2T  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทุกท่านคงจะเห็นได้ชัดเจนว่า โครงการ  U2T เป็นการทำงานที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลได้อย่างแท้จริง ซึ่งมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยบูรณาการโครงการ (System Integrator) ทำให้เกิดการจ้างงาน การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีความครอบคลุมในประเด็นต่าง ๆ ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน มีการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Community Big Data) มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคตให้แก่ผู้ได้รับการจ้างงานภายใต้โครงการ U2T  ถือได้ว่าผู้ได้รับการจ้างงานภายใต้โครงการ U2T ได้รับโอกาสที่ดีกว่าบุคคลอื่น ๆ อันเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนต่อไป  ขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ผู้ว่าราชการทั้ง 10 จังหวัด ตลอดจนผู้บริหารพื้นที่ทั้ง 135 ตำบล ที่เปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้เข้าไปดำเนินโครงการ U2T ในพื้นที่ของท่าน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน  เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ ขอขอบคุณต่อท่านคณบดี 19 คณะ คณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการทุกท่าน ที่เสียสละเวลาเข้าไปขับเคลื่อนพื้นที่ 135 ตำบล   นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ และผู้ได้รับการจ้างงาน  รวมทั้ง ขอขอบคุณผู้ได้รับการจ้างงาน 3,127 คน ทั้งนักศึกษา บัณฑิต และประชาชน ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ต้นจนจบ ส่งผลให้การดำเนินโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้มุ่งหวังทุกประการ”

นายจวง เหชัยภูมิ  ผู้แทนชุมชนท่านางแนว อ.แวงน้อย จังหวัดขอนแก่น

________นายจวง เหชัยภูมิ  ผู้แทนชุมชนท่านางแนว อ.แวงน้อย จังหวัดขอนแก่น กล่าวแสดงความรู้สึก และขอบคุณผู้ดำเนินการและผู้ร่วม ระยะที่ 1 ว่า  “โครงการ U2T ที่เกิดขึ้น ทำให้มีบัณฑิตกลับบ้านมาทำงาน ก่อให้เกิดสำนึกรักบ้านเกิด  ประชาชนก็เห็นอาชีพที่สามารหารายได้ โดยเอาความรู้และเทคโนโลยีมาสร้างแบรนด์ ยี่ห้อ  ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง อยู่ได้  พึ่งตนเองได้  ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้โอกาส หวังว่าชุมชนจะเกิดการพัฒนาต่อยอดวิสาหกิจสู่นิติบุคคล เมื่อความมั่นคงต่อไป”

นางสาววรรณษา  สิริเลิศอนันต์  ผู้แทนชุมชน จ.กาฬสินธุ์

________นางสาววรรณษา  สิริเลิศอนันต์  ผู้แทนชุมชน จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า “นับเป็นโอกาสที่ดียิ่ง  ทำให้คนในชุมชนได้ทำงาน ได้รับความรู้ ก่อให้เกิดรายได้ ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน  การทำงานโครงการนี้ ทำให้พัฒนาศักยภาพ และได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในชุมชนได้เป็นอย่างดี”

________นับเป็นเวลา 11 เดือน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณาจารย์ผู้รับผิดชอบโครงการ จาก 19 คณะส่วนงาน ได้มุ่งมั่น ตั้งใจดำเนินโครงการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่งผลให้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในระยะที่ 1   ก่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในระดับตำบล ชุมชน สร้างอาชีพ บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างดี

ข่าว/ภาพ   :   วัชรา  น้อยชมภู

KKU concludes the U2T Project that has helped sustain 135 sub-districts from the University’s body of knowledge and innovations

https://www.kku.ac.th/12432

 

Scroll to Top