นร.สาธิตฯ มข. 2 ทีม ศักยภาพระดับโลก คว้ารางวัลระดับอาเซียน จากงานแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งที่ 10 ASPC 2024

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567  นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2 ทีม ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเชียน ครั้งที่ 10” (The 10th ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2024)) โดยทั้ง 2 ทีม สามารถเอาชนะ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรางวัลเหรียญเงิน (Silver Award) คะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ  รางวัล 3rd Runner-up โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ รอบ Oral presentation และ Poster presentation  และ รางวัล Popular vote จากผลงาน 39 โครงงาน ของตัวแทนเยาวชนจาก 9 ประเทศ มาครอง  เข้ารับโล่รางวัลกับ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM  ณ ห้องแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า NSM ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM

กิจกรรม “การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 10” (The 10th ASEAN Student Science Project Competition (ASPC 2024))  เป็นกิจกรรมที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM และบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ร่วมเป็นหน่วยงานสนับสนุนได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 2-7 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์ระหว่างกัน ในปีนี้มีเยาวชนจาก 9 ประเทศ ได้ส่งผลงานจำนวน 39 โครงงาน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ชีวภาพ และประยุกต์  ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และไทย

นายแทนคุณ จันมะโฮง และ นางสาวสุธาสินี อุทัยกัน

สำหรับประเทศไทย  นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 2 ทีม และสามารถคว้ารางวัลมาครองได้อย่างภาคภูมิ รางวัลแรกได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 First Runner-up (Second Prize) สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ  และเหรียญทองคะแนนรวม จาก โครงงานการพัฒนาการเพาะเลี้ยงมดใต้ดิน (Carebara castanea Smith, 1858) สู่อาหารโปรตีนชั้นยอดเพื่อความยั่งยืน  โดยมีสมาชิกในทีม ประกอบด้วย นายแทนคุณ จันมะโฮง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ นางสาวสุธาสินี อุทัยกัน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6  กลุ่มโครงงานวิทยาศาสตร์ SMD Science Project  โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) ภายใต้การควบคุมดูแลของ อาจารย์ ดร.ประเทืองสุข  มณีล้ำ  และ อาจารย์อนิสรา  บุญสด  อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน  

นายคณพศ ตั้งพูลผลวนิชย์ และ นายวสิษฐ รัตนวิชา

ในขณะที่ โครงงาน การประเมินศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพจากอาหารเหลือทิ้งโดยระบบย่อยอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจน  สมาชิกในทีม ประกอบด้วย นายคณพศ ตั้งพูลผลวนิชย์ และ นายวสิษฐ รัตนวิชา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) โดยมี อาจารย์ สมโชค แก้วอุทัศน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน และอาจารย์ประจำชุมนุมโครงงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์)  คว้ารางวัลเหรียญเงิน (Silver Award) คะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ  รางวัล 3rd Runner-up โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ รอบ Oral presentation และ Poster presentation  และ รางวัล Popular vote จากสมาชิกผู้เข้าร่วมการประกวดทั้งหมด

โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน (พิเศษ) ประกอบด้วย ศ.ดร.อลิศรา เรืองแสง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้ากลุ่มวิจัยพลังงาน Hy-Thane มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.วรพงศ์ วงค์อามาตย์ นักวิจัยหลังปริญญาเอก กลุ่มวิจัยพลังงาน Hy-Thane มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ทั้งนี้ ได้รับความเอื้อเฟื้อสถานที่ทำการทดลอง จากสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ กลุ่มวิจัย Bio-Hythane Pilot Plant KKU มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นับเป็นความทุ่มเทในการทำงานของคณาอาจารย์และนักเรียนกลุ่มโครงงานวิทยาศาสตร์ SMD Science Project โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การบริหารของคณะผู้บริหาร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ บุคลากร  ชมรมผู้ปกครองฯ  ตลอดถึงผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา และความสนับสนุนของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลงานของนักเรียนทั้ง 2 ทีม ที่สามารถคว้ารางวัลระดับอาเซียนมาครองในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงผลจากการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียน ตามยุทธศาสตร์ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้มีการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ และความสามารถเต็มตามศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นนวัตกร และเสริมสร้างนักเรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skill) มีศักยภาพทัดเทียมระดับโลก

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู

Scroll to Top