คณะวิทยาศาสตร์ มข. จัดพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 เนื่องในวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

คณะวิทยาศาสตร์ มข. จัดพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) เนื่องในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2566

วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 7.00 น. – 9.30 น. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดพิธีถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏ วิทยมหาราช  รัชกาลที่ 4 ณ บริเวณวงเวียนพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ  หน้าอาคารวิทยาศาสตร์ 06 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติ พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในฐานะพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2566  โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ คณะหน่วยงาน ตลอดจนองค์กร สถาบันต่างๆ  ในจังหวัดขอนแก่น  ร่วมวางพานพุ่มถวายราชสักการะ เป็นจำนวนมาก

ภายในพิธี ผศ.ดร.อังคณา  บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ นำตัวแทน ผู้บริหาร อาจารย์และบุคลากร ถวายพานพุ่มราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์  “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” รัชกาลที่ 4 และได้รับเกียรติจาก นายพันเทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  เป็นประธานในพิธี ถวายพวงมาลัยลักการะ แด่ พระบรมราชานุสาวรีย์ ต่อด้วยการจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย และถวายราชสดุดีเทิดพระเกียรติยศ แด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช  พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชปรีชาญาณรอบรู้ และมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่าง ๆ หลากหลายแขนงอย่างแตกฉานและลุ่มลึกยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาการและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในยุคนั้น ผลงานอันเป็นหลักฐานที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของพระองค์ที่สำคัญได้แก่ ทรงคำนวณปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ  โดยได้ทรงพยากรณ์และประกาศไว้ล่วงหน้า 2 ปี และได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ  พระบรมเดชานุภาพที่แสดงในครั้งนั้น   เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งต่อพสกนิกรชาวสยามและเป็นที่ยกย่องในพระปรีชาญาณทั่วไปในสากลประเทศ  เป็นการเชิดชูศักดิ์ศรี    แห่งความเป็นอริยะของชาวไทย  ส่งผลให้ประเทศชาติคงความเป็นเอกราช  ตราบจนทุกวันนี้  องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก และคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ”

 

Scroll to Top