“จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจน้องใหม่ในตลาดโลก มข.หนุนพัฒนาฟาร์มเชิงพาณิชย์-แปรรูปส่งออก

สำนักข่าว:ผู้จัดการออนไลน์
URL: https://mgronline.com/local/detail/9630000082016
วันที่เผยแพร่: 11 ส.ค. 2563

ศูนย์ข่าวขอนแก่น – “จิ้งหรีด” สัตว์เศรษฐกิจน้องใหม่ที่น่าจับตา แหล่งโปรตีนทางเลือกราคาถูกแถมช่วยลดคอเลสเตอรอล ที่แม้แต่ FAO ยังหนุนให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคมากขึ้น สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ฯ มข.เดินหน้าหนุนเกษตรกรภาคอีสานยกระดับฟาร์มเลี้ยงเตรียมพร้อมเข้าสู่อุตฯ อาหารแปรรูปส่งออกแข่งตลาดต่างประเทศ

“จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต” ที่สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ม.ขอนแก่น จัดขึ้นที่โรงแรมโฆษะไปเมื่อเร็วๆ นี้ มีภาคีเครือข่ายเกษตรกรและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นค่อนข้างหนาตา เป็นเวทีอัปเดตข้อมูลการเลี้ยงจิ้งหรีดเชิงพาณิชย์ที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากปีกลาย เปิดโอกาสให้นักวิชาการและกลุ่มเกษตรกรเจ้าของฟาร์มจิ้งหรีดมาพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน

“จิ้งหรีด” ถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ โดยเฉพาะทางยุโรปและอเมริกา ในขณะที่เมืองไทยเองก็มีกลุ่มเกษตรกรในภาคอีสานและภาคเหนือนิยมเลี้ยงกันค่อนข้างมาก ทั้งเป็นฟาร์มส่วนตัวและฟาร์มในรูปของวิสาหกิจชุมชน

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคกันมากขึ้น เพราะจิ้งหรีดเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูก มีสารอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล ต่อต้านการติดเชื้อจากยีสต์ในระบบทางเดินอาหาร และมีไฟเบอร์สูง คนไทยเราเองก็กินจิ้งหรีดและแมลงอีกหลายชนิดกันมานาน ถือเป็นอาหารแห่งอนาคตที่น่าจับตามอง

รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศของอุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลง โดยเน้นที่จิ้งหรีดเป็นสำคัญ รวมถึงแนวทางส่งเสริมการยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนจากแมลงให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

“เป็นการจัดประชุมต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่มุ่งเน้นแนวทางการยกระดับการเลี้ยงของเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานฟาร์มปลอดภัย และสร้างกระแสการรับรู้ประโยชน์ของจิ้งหรีดที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้เป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคต” รศ.รังสรรค์กล่าว

สำหรับข้อได้เปรียบของการเลี้ยงเชิงพาณิชย์นั้น จิ้งหรีดถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ใช้ต้นทุนเพาะเลี้ยงต่ำ ใช้น้ำน้อย ขยายพันธุ์ง่าย ไม่ต้องใช้พื้นที่เพาะเลี้ยงกว้างใหญ่เหมือนสัตว์โปรตีนประเภทอื่น ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูง แนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ละปีเลี้ยงได้ถี่ถึง 6 รอบ ใช้เวลาเลี้ยงรอบละประมาณ 35 วันเท่านั้น

ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดราว 20,000 ฟาร์ม ในจำนวนนี้กว่า 50% อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ ที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออก ขณะที่ภาคใต้ยังไม่นิยมเลี้ยงมากนัก

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย อธิการบดี ม.ขอนแก่น ระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากแมลงเป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีลู่ทางแจ่มใสในตลาดต่างประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและชาวบ้านในอีสานมีความรู้ความชำนาญ คุ้นชิน นิยมบริโภคมานาน เป็นองค์ความรู้ของพื้นถิ่นที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดสมัยใหม่

นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะต้องเร่งยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเกษตรกรภาคอีสาน อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืนมากขึ้น

“การเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันได้ในตลาดจะประสบความสำเร็จนั้นต้องบูรณาการกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีด ขณะที่ภาคปฏิบัติในอุตสาหกรรมอาหารต้องเข้ามาหนุนเต็มที่ เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำให้ได้” รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว

Scroll to Top