มข. ร่วมเอกชน ไซสีอิฐ ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์

เมื่อวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานแถลงข่าวการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD) โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นประธาน  มีศาสตราจารย์อรุณรัตน์ ฉวีราช นักวิจัยอาวุโส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และหัวหน้าทีมวิจัย ไซสีอิฐ และ  คุณสานิตย์ แก้วดวงดี กรรมการบริหาร บริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD.) เข้าร่วมเป็นตัวแทนแถลงข่าวและลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ และเล่าถึงจุดมุ่งหมายของงานแก่คณะผู้บริหาร คณะผู้วิจัย สื่อมวลชน และแขกผู้เกียรติที่เข้าร่วมงานแถลงข่าว ว่า “งานแถลงข่าวการถ่ายทอดเทคโนโลยีงานแถลงข่าวการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์’ ซึ่งได้ร่วมลงทุนกับทางบริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD) ทางทีมผู้วิจัย บุคลากร และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นในการผลักดันงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพ ให้นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมใหม่ในเชิงพาณิชย์ที่เห็นผลได้จริง สามารถสร้างรายได้ ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และยกระดับสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีงานวิจัยรองรับ ให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยชื่อผลิตภัณฑ์และทีมวิจัย “ไซสีอิฐ” นั้น มาจาก science ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า วิทยาศาสตร์ และ  คำว่า “สีอิฐ” คือสีส้มอิฐ ซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น “ไซสีอิฐ” จึงเป็นชื่อที่สื่อความหมายถึงความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เป็นอย่างดี”

รองศาสตราจารย์ชาญชัย ยังกล่าวแถลงถึงการร่วมลงทุนกับบริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD.) ว่า “ผลิตภัณฑ์เกิดจากการศึกษาค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมใหม่จากสารสกัดของพืชในประเทศไทยที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยทีมนักวิจัยและบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมกันวิจัยจนได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย นำมาสู่การยื่นจดสิทธิบัตรขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญากับฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ โดยศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อนที่จะได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ บริษัท ไซสีอิฐ จำกัด นำไปผลิตและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “ไซสีอิฐ” ที่ได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายทางการค้าแล้วเช่นกัน เพื่อเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งกับโอกาสทางธุรกิจ และลดความเสี่ยงในการถูกละเมิด หรือเลียนแบบผลิตภัณฑ์”

“ทั้งนี้ทางทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เล็งเห็นประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จากการได้ทดลองใช้มาบ้างแล้ว รวมกับแผนธุรกิจที่ทางทีมนักวิจัยและบริษัทนำเสนอมานับเป็นก้าวสำคัญที่มหาวิทยาลัยจะได้สนับสนุนนักวิจัยให้นำผลงานวิจัยก้าวไปสู่การทำธุรกิจที่เป็นมากกว่าการสร้างกำไร แต่เป็นการช่วยยกระดับมูลค่าของพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่นภาคอีสาน และพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจสังคมต่อไป มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงตัดสินใจร่วมลงทุนถือหุ้นใน บริษัท ไซสีอิฐ จำกัด จำนวน 20 % จากทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท”

ด้านศาสตราจารย์อรุณรัตน์ ฉวีราช นักวิจัยอาวุโส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าทีมนักวิจัย “ไซสีอิฐ” ได้กล่าวถึงก้าวสำคัญของการเป็นนักวิจัยไปสู่ SciSeeIt ว่า “ทีมวิจัยไซสีอิฐเป็นทีมวิจัยเล็ก ๆ ที่มีนักวิจัยจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ผ่านการทำวิจัยมาหลายรูปแบบ ซึ่งงานวิจัยของเราที่นำมาสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ไซสีอิฐเกิดจากจุดเริ่มต้นในการได้เหรียญทองแดงจากการประกวดในงาน Thailand Research Expo 2020 และได้รับความสนใจกับการสนับสนุนตัวผลิตภัณฑ์จากทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงทำให้เกิดเป็น SCISEEIT ในเวลาต่อมา ซึ่งทุกวันนี้ทางทีมวิจัยของเรายังคงมุ่งผลิตงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อส่งให้บริษัทได้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพในการส่งต่อสู่สังคมตามปณิธานและนโยบายของมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง”

ด้านคุณสานิตย์ แก้วดวงดี กรรมการบริหาร เป็นตัวแทนบริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD) กล่าวถึงการได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจ ว่า “ไซสีอิฐ เป็นบริษัท ที่มีหลักการหรือแนวคิดที่มุ่งเป็นตัวกลางในการนำเอานวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นขับเคลื่อนเข้าสู่พาณิชยกรรมแบบเต็มรูปแบบ และเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ทางการตลาด ด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฐานจากกระบวนการงานวิจัยและทีมวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อส่งผลดีต่อตัวผู้บริโภคในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มาเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตรและส่งเสริมขีดการแข่งขันด้านธุรกิจ โดยผลิตภัณฑ์ของไซสีอิฐพัฒนามาจากพืชเป็นหลักและปัจจุบันมีทั้งหมด 6 ผลิตภัณฑ์ด้วยกันคือ NAT HAIR SHAMPOO, NAT HAIR SERUM, NAT HAIR TREATMENT, NAT OleA, NAT Amy, และ NAT One C ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ได้รับเลขที่จดแจ้งและเลขที่อย. เป็นที่เรียบร้อย ตลอดระยะเวลา 1 ปีในการเป็น ไซสีอิฐ ทุกผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงทำให้เรามองเห็นถึงการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งนี้เรายังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมส่งต่อสู่สังคม และในอนาคตจะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์ของทีมวิจัยอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้หลังจากการกล่าวแถลงข่าวของอธิการบดี  ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัทผู้รับอนุญาตแล้ว ได้มีการร่วมพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับบริษัท ไซสีอิฐ จำกัด (SCISEEIT CO., LTD)  ผู้ได้รับอนุญาตผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ภายในงานยังได้มีการจัดบูธแสดงผลิตภัณฑ์ เพื่อเล่าถึงเส้นทางความเป็นมาของงานวิจัยสู่ความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ไซสีอิฐ ผลิตภัณฑ์ที่มุ่งส่งต่อนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์สู่สังคม

ข่าว ยุธิดา  โฉสูงเนิน

ภาพ  จิราพร ประทุมชัย

KKU joins Sci See It in commercial tech transfer from research work

https://www.kku.ac.th/12409

Scroll to Top