คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มข. ใช้พื้นที่สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่น เอฟ.เอ็ม.103 เมกกะเฮิร์ตซ ถ่ายทอดเรื่องราวการปรับกระบวนการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 การแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อเป็นส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาสังคมและชุมชนตอกย้ำบทบาทของสถาบันการศึกษา
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 เวลาประมาณ 10.10 น. – 11.00 น. รายการรอบรั้วมข. ดำเนินรายการโดย นางเบญจมาภรณ์ มามุข ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการปรับกระบวนวิธีของการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิดระลอกสอง คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มต้นประเด็นด้วยการส่งกำลังใจให้กับผู้รับฟังรายการว่า“ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่าน เราทุกคนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ดังกล่าว การจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้เราต้องปฏิบัติตามมาตรการของทางภาครัฐ และดูแลตัวเองเป็นสำคัญ”
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวในรายการเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอนว่า ในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอนก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับและรับมือแบบออนไลน์ ซึ่งทางคณะเกษตรศาสตร์มีหลายส่วนที่จะต้องปฏิบัติ ดังนั้นจึงมีการหมุนเวียนกลุ่มนักศึกษาให้ลงไปปฏิบัติงานและยังคงมาตรการของการรักษาระยะห่างทางสังคม Social Distancing เช่น มีการตรวจวัดอุณหภูมิ ปิดทางเข้าออกที่เข้มงวดขึ้น พร้อมทั้งสร้างโปรแกรมติดตามของทางคณะซึ่งโปรแกรมนี้จะคล้ายกับ เว็บไซต์ไทยชนะของทางรัฐบาล ที่จะใช้ติดตามบุคลากรเพื่อสำรวจตรวจสอบว่าแต่ละบุคคลมีการเดินทางไปที่ไหนมาบ้าง ถือเป็นมาตรการของทางคณะที่ได้ริเริ่มทำขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเฝ้าระวัง
ซึ่งจากสถานการณ์การการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีแนวทางการปฏิบัติ ที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของสถานศึกษาก็เช่นเดียวกัน โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีนโยบายให้แต่ละคณะสามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้เองตามความเหมาะสม แต่เนื่องจากคณะเกษตรศาสตร์ มีพื้นที่ในการให้บริการหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นในชั้นเรียน ห้องทดลองปฏิบัติการ หรือการเรียนในภาคสนาม รวมถึงพื้นที่ของอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร ที่มีการเปิดให้เป็นพื้นที่ดำเนินกิจการ กิจกรรมต่าง ๆ จึงทำให้ต้องมีการปรับมาตรการการป้องกันให้เข้ากับรูปแบบการเรียนการสอน ที่สำคัญการจัดกิจกรรมงานวันเกษตรภาคอีสาน ที่มีขึ้นในทุกปีเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกปฏิบัติที่สำคัญของนักศึกษา แต่เมื่อเกิดวิกฤติอีกครั้งจึงทำให้มีการประกาศงดการจัดงาน ทางคณะเองก็มีการหารือเพื่อหาทางออกในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนว่า จะทำอย่างไรให้กิจกรรมส่วนนี้ยังคงเกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องตระหนักถึงมาตรการป้องกัน ซึ่งเหตุนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของงาน แปลงเกษตรดอกคัตเตอร์ ในรูปแบบเกษตรนวัตกรรม (โดยได้แนวคิดจากแปลงกังหันที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว) เพราะการที่เด็ก ๆได้มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้ ถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอนในห้องเรียนและการออกมาปฏิบัติงานจริงนอกห้องเรียน สิ่งสำคัญก็คือ ความจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนกายภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะจากสถานการณ์โควิด มีผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมที่เคยจัดขึ้นทุกปีต้องหยุดชะงัก จึงเป็นสาเหตุของการริเริ่มกิจกรรมการเกษตรเชิงนวัตกรรมที่ได้มีการจัดสรรขึ้นอย่างลงตัว สามารถให้ชุมชมได้เข้ามาใช้บริการและเยี่ยมชมแปลงงานเกษตรดอกคัตเตอร์ได้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ได้มีการเปิดพื้นที่กิจกรรมเกษตรแปลงคัตเตอร์ ทำให้เรามองเห็นว่า ไม่ว่าประเทศและสถานการณ์จะตึงเครียดแค่ไหน แต่การได้พาเด็ก ๆ นักศึกษาทำกิจกรรมตรงนี้ก็เป็นการช่วยลดความตึงเครียด และสามารถสร้างความสุข การผ่อนคลายให้กับประชาชนที่เข้าชมแปลงดอกคัตเตอร์ ในอนาคตจะมีการวางแผนด้านการจัดกิจกรรมทางด้านการเกษตรให้ครบวงจร ครบทุกสาขา ทั้งการวางแผนด้านการปลูกดอกไม้ประเภทต่าง ๆ ทั้งด้านปศุสัตว์ และทุกสาขาให้ได้มีการปฏิบัติงานร่วมกัน จัดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติในคอร์สสั้น ๆ ของประชาชนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สอดรับกับแนวนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ซึ่งทางคณะเอง ก็ได้ปรับตัวเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมทั้งนักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และการเข้าถึงของประชาชนและชุมชน ให้เข้ามาร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพได้ในอนาคตอีกด้วย คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าว
คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทั้งนี้มหาวิทยาลัยได้ให้งบประมาณส่วนหนึ่งมาพัฒนา พื้นที่ของคณะเกษตรศาสตร์ให้มีภูมิทัศน์ที่สวยงามสามารถใช้สอยพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับตนเองได้เป็นคณะกรรมการสร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ Great Place to Live ด้วย จึงมีการหารือถึงการจัดสรรพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้โดยจะมีการทำลู่วิ่งและจักรยานรอบอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร ผนวกกับคณะเกษตรศาสตร์เองก้ได้นำงบประมาณส่วนหนึ่งมาจัดทำรั้วด้านหน้าอุทยานเทคโนโลยีการเกษตร (รั้วคาวบอย) ผนวกกับการจัดแบ่งพื้นที่ในการปลูกดอกไม้ชนิดต่าง ๆ จนทำให้เกิดความสวยงาม ทำให้ภูมิทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่เข้ามามหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี” และนี่คือกระบวนการที่นำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์การเรียนการสอน ที่สามารถพัฒนากิจกรรมไปในเชิงของธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าทางรายได้และมูลค่าทางจิตใจได้ด้วย
ในช่วงท้ายของรายการ รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงเรื่อง การปรับวิธีของกระบวนการเรียนการสอนว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหน่วยงานหนึ่งในการสอนคน และสร้างคน เพื่อให้เกิดกระบวนทัศน์ทางการศึกษาที่ดีขึ้น เช่นเดียวกันกับคณะเกษตรศาสตร์ ที่มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการเรียนการสอน ซึ่งจะแตกต่างจากการเรียนการสอนสมัยที่ผ่านมา “ การเรียนการสอนในสมัยก่อน เราสอนแค่ให้เด็กมีความรู้ แต่ในปัจจุบันโลกมักเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน มีความซับซ้อน และยากจะแก้ปัญหา ดังนั้นบทเรียนต่าง ๆ เด็ก ๆต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ” อย่างในส่วนของทางคณะเองก็มีการผนวกการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่จำเป็นต้องให้เด็ก ๆทุกสาขาของคณะเกษตรศาสตร์ได้ลงพื้นที่เพื่อทำการเรียนรู้ในหลาย ๆด้านมากขึ้น เช่นการคิดหาวิธีในการผลิต หรือแนวคิดของเศรษฐศาสตร์การเกษตร รวมไปถึงงานปศุสัตว์ที่เด็ก ๆจะต้องได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมงานวันเกษตรภาคอีสาน เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในด้านการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา Education Transformation เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน สอดคล้องกับนโยบายด้านระบบนิเวศน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Ecological) ประเด็น สร้างมหาวิทยาลัยให้เป็นที่น่าอยู่ Great Place to Live สิ่งนี้เองที่จะสามารถสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ สามารถต่อยอดและนำไปพัฒนาวิชาชีพของตนเองในอนาคตได้
ข่าว : เบญจมาภรณ์ มามุข / ทิตาวีร์ การรัมย์ นักศึกษาฝึกสหกิจศึกษา
ภาพ : ทิตาวีร์ การรัมย์ นักศึกษาฝึกสหกิจศึกษา / เฟสบุ๊ก KKU Radio F.M.103 MHz
https://www.facebook.com/KKURadioFM103/videos/260108328928877