สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ขับเคลื่อนการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีแก่เยาวชน ในอำเภอบ้านแฮด บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี นำโดย รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว และ รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม ได้เข้านิเทศการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีของโรงเรียนเขตพื้นที่อำเภอบ้านแฮดและบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับโครงการวิจัยหลักสูตรเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีไปใช้ในโรงเรียน ซึ่งนำโดย รศ.ดร.ลัดดา ศิลาน้อย และ รศ.ดร.อังคณา ตุงคะสมิท

หลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในเขตภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ พัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะศึกษาศาสตร์และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี โดยหลักสูตรแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งถูกนำไปใช้ในโรงเรียนในอำเภอต้นแบบของจังหวัดขอนแก่น คืออำเภอบ้านแฮด และบ้านไผ่ จำนวน 74 โรงเรียน ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมา

กว่า 3 เดือนที่มีการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีฯ ไปใช้นั้นแต่ละโรงเรียนมีการบูรณาการหลักสูตรตามบริบทของตนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งรายวิชาทางด้านสุขศึกษา วิทยาศาสตร์และชีววิทยา กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และกิจกรรมหน้าเสาธง ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าในบางโรงเรียนมีการสอดแทรกในรายวิชาเคมี คณิตศาสตร์ ด้วย

จากการนิเทศติดตาม และประเมินผลของการใช้หลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีฯ ในระยะแรกนี้ พบว่าผู้เรียนมีความตระหนัก กลัวภัยของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้เรียนมีการถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับไปยังผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองได้นำมาบอกเล่าให้ครูทราบ โดยครูเห็นว่าหลักสูตรฯ มีองค์ประกอบที่ชัดเจนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มองเห็นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และนำไปใช้ง่าย และเห็นควรให้มีการขยายหลักสูตรไปยังระดับเด็กเล็ก โดยใช้สื่อแบบแอนนิเมชั่นด้วย

ด้านผู้บริหารของโรงเรียนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยการมอบเป็นนโยบายที่ชัดเจนแก่ครูผู้สอน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ เพราะเห็นว่าโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นเรื่องสุขภาพใกล้ตัวของทุกคน และเห็นว่าหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันฯ นี้ มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยพึงพอใจเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นดำเนินการจริงจังอย่างต่อเนื่อง มีการนิเทศและติดตาม ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจที่จะขยายผลต่อไปยังชุมชน พร้อมกันนี้ได้ย้ำให้เห็นผลของการนำหลักสูตรไปใช้นั้น เด็กนักเรียนเองได้นำไปใช้จริงกับครอบครัว เห็นได้จากในโอกาสที่ชาวบ้านมาช่วยงานของโรงเรียนก็จะคุยกันเรื่องอาหารการกิน ว่าต้องกินปลาสุก นอกจากจะมีการสอนในรายวิชาหรือกิจกรรมปกติแล้ว ยังมีการจัดแผ่นป้ายนิทรรศการให้ความรู้แก่นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน จัดทำแผ่นพับให้นักเรียนนำไปแจกผู้ปกครองเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีด้วย

ด้านผู้ปกครองและตัวแทนชุมชนมีการรับรู้และเห็นด้วยที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในโรงเรียน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง บุตรหลานของตนก็ได้นำความรู้นั้นมาบอกต่อคนในครอบครัว ด้วยการบอกเล่าถึงวัฏจักรของพยาธิ ทำให้ทราบว่าสัตว์และอาหารประเภทใดที่ก่อให้เกิดพยาธิใบไม้ตับ รวมถึงห้ามให้ผู้ปกครองรับประทานปลาดิบด้วย ซึ่งผู้ปกครองมีความเชื่อมั่นว่าเด็กที่ได้รับการปลูกฝังในเรื่องที่มีประโยชน์ โตขึ้นเด็กจะมีสุขภาวะที่ดีได้

ส่วนด้านนักเรียนเองนั้น มีการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความพึงพอใจต่อการเรียนรู้เกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี จากการที่ครูมีวิธีการและมีสื่อประกอบการสอนที่หลากหลาย น่าสนใจ ทำให้นักเรียนสนุก เข้าใจในเนื้อหา จนเกิดเป็นความตระหนักกลัวในโทษของโรค และตระหนักถึงประโยชน์ของความรู้ที่ได้รับทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน เห็นได้จากการนำความรู้ไปบอกเล่าส่งต่อให้ผู้ปกครองทราบ โดยในบางรายสะท้อนกลับมาว่าผู้ปกครองของตนยังเพิกเฉยในการลดพฤติกรรมการบริโบคที่เสี่ยงต่อพยาธิใบไม้ใบตับ แม้จะได้รับความรู้แล้วก็ตาม ดังคำที่นักเรียนคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“เมื่อก่อนหนูเคยกินปลาดิบ ต่อไปหนูจะไม่กินปลาดิบเหมือนในหนังสั้นปลาดิบอีกแล้วค่ะ หนูจะไปบอกพ่อกับแม่เรื่องปลาดิบ อยากให้พ่อแม่อยู่กับหนูนานนาน”

การดำเนินงานนี้ ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นอย่างดี อันเป็นผลมาจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในอำเภอบ้านแฮดและอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ที่ลงนามร่วมกันระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่นเขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 25 สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอบ้านแฮด คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอบ้านไผ่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น      และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาพ/ข่าว : ธนาราช คงคารักษ์

Scroll to Top