วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มข. ยินดี! ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก ได้รับทุนและคว้ารางวัลที่ 3 ในการแข่งขัน Emory Health AI Bias Datathon 2024 ที่สหรัฐฯ

วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอแสดงความยินดีกับ ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ Emory University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมคว้ารางวัล อันดับ 3 ในการแข่งขัน Emory Health AI Bias Datathon 2024 ที่จัดขึ้น ณ สหรัฐอเมริกา

โดย ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ KKU TOP300 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก นอกจากนี้ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก Emory University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมงาน The 2024 Emory Health AI Bias Summer School, Datathon, and Symposium ซึ่ง ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก ได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการและร่วมบรรยายในหัวข้อ “Fairness in AI-based Software Development from Software Engineering Perspective” ในการประชุมวิชาการ Health AI Bias Symposium 2024 ที่จัดขึ้น ณ HSRB Rollins Auditorium ณ เมือง Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงเข้าร่วมแข่งขันในงาน Emory Health AI Bias Datathon 2024

ในการแข่งขันดังกล่าว ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก และผู้ร่วมทีมจากตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้เสนอแนวทางในการปรับปรุง Gail model หรือ Breast Cancer Risk Assessment Tool (BCRAT) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถประเมินความเสี่ยงของผู้หญิงในการเกิดมะเร็งเต้านมในระยะลุกลามในอีก 5 ปีข้างหน้า และสูงสุดถึงอายุ 90 ปี (ความเสี่ยงตลอดชีวิต) โดยการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์หาปัจจัยเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของ Gail model ด้วยการเรียนรู้เครื่อง (Machine Learning) และ Explainable AI กับข้อมูลในส่วนของ Magview จาก Emory EMBED dataset จากการแข่งขันดังกล่าว ผศ. ดร.ชิตสุธา สุ่มเล็ก และผู้ร่วมทีม ยังค้นพบประเด็นที่สำคัญอีกอย่างจากการวิเคราะห์ข้อมูลคือ คนไข้มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่หลังจากทำ Screening test เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม และผลออกมาเป็น Negative มักจะไม่กลับมาตรวจซ้ำตามคำแนะนำ หรือเว้นระยะนานเกินกว่า 5 ปี จึงจะกลับมาตรวจซ้ำ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อการตรวจพบมะเร็งในระยะที่รุนแรงมากขึ้น ทีมผู้เข้าแข่งขันจึงเสนอให้มีการออก Campaign หรือมาตรการที่จะช่วยให้คนไข้กลับมาตรวจซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์


ความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ในทางการแพทย์ โดยเฉพาะด้าน Medical Imaging และการจัดการกับ Bias และ Fairness ในข้อมูลและขั้นตอนการพัฒนาโมเดลด้วยปัญญาประดิษฐ์ แต่ยังเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการแพทย์ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักวิจัยไทยในเวทีโลก และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการการศึกษาและนวัตกรรมระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์และทางการแพทย์

Scroll to Top