มข. ต้อนรับ ผู้บริหาร ม.เครือข่ายศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนักวิจัย หนุนภาคเกษตรไทย

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยรศ.ดร.ภาณุพล หงษ์ภักดี  รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและการต่างประเทศ  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้อนรับ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร จากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  นำโดยดร.อรอุบล ชมเดช ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร พร้อมคณะผู้บริหาร ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

       รศ.ดร.ภาณุพล หงษ์ภักดี  รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและการต่างประเทศ  คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพันธกิจบริการวิชาการ งานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แก่ภาคีเครือข่าย  โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เรามีศูนย์ฟีโนม (Khon Kaen University Phenome Centre) ให้บริการวิชาการวิจัยทางด้านฟีโนมิกส์ แก่นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยในเครือข่าย รวมถึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร จากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)   ทั้งในแง่ของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการ และงบประมาณ

ดร.อรอุบล ชมเดช ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เผยว่า  ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรหน่วยบริหารงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร  กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) มีพันธกิจส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 เริ่มแรกเจ็ดศูนย์ตามสาขาความขาดแคลนของประเทศและสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบัณฑิตศึกษาและการวิจัยระดับสูง ต่อมาได้ทำงานด้านวิชาการแบบข้ามสถาบัน

“ทำให้ปัจจุบันมีศูนย์ความเป็นเลิศทั้งสิ้น 8 ศูนย์ ในสถาบันการศึกษาเครือข่าย ปัจจุบันผลิตบัณฑิต ทั้งระดับปริญญาเอก ปริญญาโท นักวิจัยผู้ช่วยระดับปริญญาตรี-โท นักวิจัยหลังปริญญาเอก นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์เน้นพันธกิจด้านการวิจัยที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมควบคู่การผลิตนักวิจัยที่มีมีทักษะด้านการวิจัย  เพื่อการพัฒนาศูนย์ให้เกิดพลังในการพัฒนาประเทศได้อย่างเป็นระบบบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เพื่อใช้แก้โจทย์ปัญหาของประเทศในหลากมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจสังคมสิ่งแวดล้อมและด้านวิชาการควบคู่กับการพัฒนากำลังคนในระดับสูงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

 

ข่าว/ ภาพ : จิราพร  ประทุมชัย

Scroll to Top