สุดเจ๋ง! นร.สาธิตฯ มข.ชูโครงงานแก้ปัญหาน้ำเสีย คว้ารางวัลนวัตกรรมสิ่งแวดล้อมจากมาเลเซีย

เมื่อช่วงวันที่ 10-14 มิถุนายน 2567 กลุ่มตัวแทนนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันการประกวดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในงาน 13th Regional Congress Search for SEAMEO Young Scientists ณ SEAMEO RECSAM, Penang, Malaysia ก่อนจะคว้ารางวัล SILVER MEDALIST (Special Award for the Application of STEM Concepts) มาครองได้สำเร็จ

สำหรับกลุ่มนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันประกอบด้วย นางสาวกุญธร แสนชัยธร ชั้น ม.6/2, นางสาวณภัทร ทิพย์สุนทรศักดิ์ ชั้น ม.6/2, นางสาวณัฏฐ์หทัย พงศ์พลกิจ ชั้น ม.6/2 และนายณภัทร รักไทย ชั้น ม.6/3 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์ขวัญจิรา ธิศาเวช อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รศ.ดร. พาวินี กลางท่าไค่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากเพื่อนในทีมได้เห็นโปสเตอร์งานที่จะจัดการแข่งขันผ่านทางโซเชียล นวัตกรน้อยก็ได้ชวนเพื่อน ๆ มารวมตัวกัน 4 คน เพื่อคิดหัวข้อโครงงาน “Activated carbon filter derived from bagasse bio waste” แล้วช่วยกันศึกษาและทดลองถึง 2 เดือน ทำการบ้าน สืบค้นข้อมูล ลงพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อเก็บตัวอย่างมาทดลอง และพัฒนาชานอ้อยดูดซับไอออนซึ่งเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่งเพื่อกรองน้ำเสียให้สะอาดและนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ ก่อนจะออกมาเป็นบทคัดย่อเบื้องต้นส่งไปคัดเลือก ตามด้วยรายงานฉบับเต็ม และการนำเสนอผลงานเป็นโปสเตอร์ที่ประเทศมาเลเซีย

เรามีแผนที่อยากจะไปแข่งขันเพื่อเก็บสะสมผลงานยื่นเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เลยมารวมตัวกันเพื่อเข้าแข่งขัน โดยเดินทางไปประเทศมาเลเซียน 5 วัน เพื่อนำเสนอผลงานและเวิร์กช็อปเพิ่มความรู้ในด้านต่าง ๆ ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้รางวัล เพราะมีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 116 ทีม จาก 11 ประเทศอาเซียน แต่พอเราได้รางวัลมาก็ดีใจมาก พ่อกับแม่ก็ดีใจ เพื่อนก็ยินดีด้วย คุ้มกับความทุ่มเทและพยายามที่เราทำไป แม้จะเจออุปสรรคตั้งแต่อยู่ประเทศไทยไปจนถึงมาเลเซียแต่ก็ทำเต็มที่จนประสบความสำเร็จ”

แม้จะมีขีดจำกัดในด้านเวลาในการศึกษาทดลอง แต่โครงงานชิ้นนี้ก็ตอบโจทย์คณะกรรมการด้วยความเป็นนวัตกรรมที่จับต้องได้ สามารถต่อยอดไปใช้ได้จริงทั้งในระดับครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต ตามจุดมุ่งหมายโครงการที่จะค้นหานักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยดูแลโลกของเราให้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการนำเสนอที่มีเสน่ห์ ลื่นไหล พรีเซนต์ข้อมูลให้เห็นภาพ ทำให้ทีมจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) คว้ารางวัลมาฝากประเทศไทยได้สำเร็จ และนักเรียนก็หวังว่าในอนาคตจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการแข่งขันมากยิ่งขึ้นเพื่อต่อยอดสู่การแข่งขันในเวทีระดับสากลอื่น ๆ ต่อไป

ด้าน อาจารย์ขวัญจิรา ธิศาเวช อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน กล่าวว่า นักเรียนทั้ง 4 คน มีความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อทุกคนมาปรึกษาเกี่ยวกับการทำวิจัยจึงได้ประสานอาจารย์ทางคณะวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการทดลองในห้องปฏิบัติการและเทคนิคต่าง ๆ และโรงเรียนยังได้สนับสนุนค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันให้แก่เด็ก ๆ เพื่อเดินทางไปยังมาเลเซียในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) มีนโยบายด้านการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่การผลิตนวัตกรรุ่นใหม่ ผ่านหลักสูตรและการเขียนแผนนวัตกรรมให้แก่เด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อให้ทุกคนได้มีชิ้นงานนวัตกรรม นำไปสู่การต่อยอดในการสมัครเรียน ฝึกทักษะชีวิต การแข่งขันบนเวทีต่าง ๆ หรือก้าวไปสู่การจดอนุสิทธิบัตรนวัตกรรมของตัวเองได้ในอนาคต เพื่อสร้างเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ บนโลกใบนี้ผ่านทักษะการคิด วิเคราะห์ของเยาวชนต่อไป

Scroll to Top