มข.จัดอบรม เทคนิคการบริการด้วยใจ (Service Mind) สร้างความประทับใจผู้ใช้บริการ มุ่งสู่ความเป็นเลิศตามเกณฑ์ ป.ป.ช.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายบริหาร ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ร่วมกับ กองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี ได้จัดโครงการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และการสำรวจข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT: External Integrity and Transparency Assessment) ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงข้อมูลและสร้างการรับรู้สำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกและการเก็บผลสำรวจประจำปี       การปรับปรุงกระบวนการให้บริการของมหาวิทยาลัย และการเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับผลการประเมินตามตัวชี้วัดโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA: Integrity and Transparency Assessment)      ซึ่งดำเนินการประเมินโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) 

มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงาน ITA ภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2567 – 2570 เสาหลักที่ 3 Spiritual ด้านการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 10 การบริหารตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีและการชี้นำสังคม (Beyond good government) โดยมีวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ “การสื่อสารภาพลักษณ์และความเชื่อถือของมหาวิทยาลัยแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชน (Promote Trustworthiness from community and Role model)” และมีเป้าหมาย “การเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องในด้านการเปิดเผย โปร่งใสและเป็นธรรม” อีกทั้งยังมีคณะทำงานร่วมขับเคลื่อนดำเนินการดังคำสั่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ 1152/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 โดย รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ประธานและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินงานด้านการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) รองศาสตราจารย์เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ นายชุมพร พารา ผู้อำนวยการกองสื่อสารองค์กร และนางพัชรากร พัจนสุนทร หัวหน้าหน่วยยุทธศาสตร์และสารสนเทศกองสื่อสารองค์กร จึงได้ดำเนินการจัด 2 กิจกรรมภายใต้โครงการฯ เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ที่มีผลต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในด้านคุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสารและปรับปรุงระบบการทำงาน และกำกับติดตาม ประสานงานและดำเนินการตามแบบการประเมินผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การสร้างการรับรู้และสำรวจการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (Survey) ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี โดยมีผู้รับบริการ กลุ่มนักศึกษา สภานักศึกษาหรือสโมสรนักศึกษา กลุ่มผู้ใช้บริหารห้องสมุด วิจัยหรือศิษย์เก่า กลุ่มร้านค้า ผู้ประกอบการหรือการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 90 คน และกิจกรรมที่ 2 การสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อการปรับปรุงการให้บริการของมหาวิทยาลัย ตามหลักเกณฑ์ของตัวชี้วัดการประเมินการรับรู้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มีผู้แทนจากส่วนงานและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยกว่า 50 คน เข้าร่วมกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อการปรับปรุงการให้บริการ ตามตัวชี้วัด 3 ด้าน ดังนี้ด้านคุณภาพการดำเนินงาน ด้านประสิทธิภาพการสื่อสารและด้านการปรับปรุงระบบการทำงาน และยังได้รับความรู้และ Workshop ในหัวข้อ “เทคนิคการบริการด้วยใจ (Service Mind)” วิทยากรโดย รองศาสตราจารย์จงรักษ์ หงส์งาม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานและการวิเคราะห์ทุนมนุษย์ โดยมีผลงานตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ท่านยังมีความชำนาญพิเศษเป็นวิทยาการทั้งภายในองค์กรและภายนอก ในการอบรมพัฒนาการสร้างทีมงาน การเขียนแผนธุรกิจ การจัดทำยุทธศาสตร์โดยใช้เครื่องมือ Balanced Scorecard และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 

การดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 กิจกรรมภายใต้โครงการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้และการสำรวจข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT: External Integrity and Transparency Assessment) ประจำปี พ.ศ. 2567 คณะกรรมการได้ดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนไปพร้อมกันในภาพของมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกที่มีผลต่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านคุณภาพการดำเนินงาน ประสิทธิภาพการสื่อสารและปรับปรุงระบบการทำงาน พร้อมการกำกับติดตาม ประสานงานและดำเนินการตามแบบการประเมินผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA ของมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น โดยมีเป้าหมาย “ผ่านดี” หรือ “ผ่านดีเยี่ยม” ซึ่งจะมีการประกาศผลการประเมิน ฯ ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี 

ข่าว: พัชรากร พัจนสุนทร

ภาพ: บริพัตร ทาสี / พัชรากร พัจนสุนทร

Scroll to Top