มข.จัดบุญข้าวจี่วาเลนไทน์ ชวนบอกรักแบบอีสานสไตล์ ปัดฝุ่นวัฒธรรมรากเหง้า ผสานวันบอกรักสากล

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการบุญข้าวจี่วาเลนไทน์ (เติมรักบุญข้าวจี่ วิถีบุญเดือนสาม) ประจำปี 2567 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและ บริการวิชาการ เป็นประธานในงาน  นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม กล่าวรายงาน ในการนี้มี นักศึกษา ประชาชนที่สนใจ คู่รัก เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ ริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น


          นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า  ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับ เครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์ในการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอีสานฮีต 12 คอง 14 จึงได้ร่วมจัดทำโครงการ “บุญข้าวจี่ วาเลนไทน์ ” (เติมรักบุญข้าวจี่ วิถีบุญเดือนสาม) ขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ริมบึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น


          “งานฮีตเดือนสาม หรือ บุญข้าวจี่เป็นประเพณีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ชาวอีสานสืบทอดกันมาช้านาน หากกล่าวถึงกิจกรรมในเดือนเดียวกันนี้ ทางศาสนาคริสต์ คือ วันแห่งความรัก (วันวาเลนไทน์) ซึ่งคนไทยหลายคน  หรือแม้แต่วัยสูงอายุ ก็คิดถึงแต่วันวาเลนไทน์ โดยมองข้ามความสำคัญในบุญเดือนสามของเราไป  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วทั้งสองวาระที่กล่าวมา ล้วนเป็นประเพณี เทศกาล ที่ได้แสดงความรักเช่นเดียวกัน โดยบุญข้าวจี่แบบอีสานเน้นความรักในครอบครัวที่ได้ล้อมวงจี่ข้าวคุยกัน  กระชับความสัมพันธ์  ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวันแห่งความรักแบบสากล ผู้จัดงานจึงได้ประยุกต์กิจกรรมวันแห่งความรักทั้งสองงานเข้าไว้ด้วยกัน”

          รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา และ บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับงานบุญประเพณีฮีตเดือนสาม เป็นงานที่มีคุณค่า โดยมีความหมายที่ซ่อนแฝงเพื่อความรัก ความสามัคคีของครอบครัวที่รวมวงกันจี่ข้าวคุยกัน และ ยังเป็นความรัก ความสามัคคีของคนและสังคม ฉะนั้นการผสมผสานสองวัฒนธรรมอย่าง ประเพณีฮีตเดือนสามหรือบุญข้าวจี่ และ วันวาเลนไทน์ มาผสานกัน จึงเป็นไปตามแนวคิด “ไม่หลงของเก่า ไม่เมาของใหม่” ถือได้ว่าเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามในอดีต ที่ถูกหลงลืม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งเป็นการฟื้นฟู ประยุกต์ให้เหมาะสมกับยุคสมัย ก่อให้เกิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์”


          นางสาวณัฐธิดา ทึนรถ นักวิชาการแผนและสารสนเทศ งานแผนยุทธศาสตร์และทรัพยากรบุคคล คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ซ้าย)ผู้ร่วมกิจกรรมจี่ข้าวในครั้งนี้ เปิดเผยว่า ทราบการจัดกิจกรรมครั้งนี้จากเพจมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเคยมาร่วมกิจกรรมเมื่อปีที่แล้วรู้สึกประทับใจ ปีนี้เมื่อเพื่อนชวนจึงมาร่วมกิจกรรมอีกครั้ง 

          “รู้สึกสนุกที่ได้ทำอะไรที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะการปั้นข้าวจี่ในรูปแบบที่หลากหลาย ปกติจะปั้นแต่กลมๆเพียงอย่างเดียว แต่การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ได้ปั้นเป็นรูปดอกไม้ ซึ่งไม่เคยปั้นมาก่อน ชอบกิจกรรมในครั้งนี้มาก  เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมได้ดี ปีหน้าถ้าว่างก็จะมาร่วมกิจกรรมอีกเพราะรู้สึกประทับใจ และ จะชวนเพื่อนๆมามากขึ้น”

          น.ส.ทัศนีย์ ทองอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาบัญชีบัณทิต คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี (ซ้าย) กล่าวว่า หนูมาร่วมกิจกรรมวันนี้เพราะเห็นจากแฟนเพจศูนย์วัฒนธรรมฯ  ส่วนตัวก็รู้สึกว่างานนี้แปลกใหม่มาก รู้สึกชอบ เพราะไม่เคยมางานอะไรแบบนี้มาก่อน การจัดงานวันวาเลนไทน์ที่เคยไปจะเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ แต่ การจัดงานครั้งนี้มีการประสานวัฒนธรรมไทยอีสานร่วมด้วยก็ได้รู้จักบุญข้าวจี่มากขึ้น ทางด้าน น.ส.สุธาศิณี จิรมงคลไทย นักศึกษาชั้นปีที่1 สาขาการเงิน คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี(ขวา) กล่าวว่า  “รู้สึกสนุกกับการจัดงานมากๆเพราะหนูชอบการแสดงดนตรี มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพราะตั้งใจมาดูระเบียบวาทะศิลป์ กิจกรรมในวันนี้รู้สึกแปลกใหม่มาก เพราะไม่คิดว่าจะเอา 2 กิจกรรมมารวมกัน แต่สามารถเข้ากันได้ เป็นงานที่ดีมากปีหน้าก็จะมาอีกค่ะ”

         สำหรับโครงการ “บุญข้าวจี่ วาเลนไทน์ ” (เติมรักบุญข้าวจี่ วิถีบุญเดือนสาม) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยได้รวบรวมประเพณีในอดีตที่ถูกหลงลืม ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การประกวด ข้าวจี่แฟนซี การประกวดมิสวาเลนไทน์ การประกวดคู่รักวาเลนไทน์ และ การ แสดงร่วมสมัยจากเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 05.30 น. ชม Mini concert จากศิลปินหมอลำ ระเบียบวาทะศิลป์ เวลา 7.00 น. มีกิจกรรมจี่ข้าวฟังลำ ทำบุญหนุนรัก ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมสามารถนำข้าวจี่ไปทำบุญใส่บาตรยามเช้าร่วมกัน  ณ ริมบึงสีฐาน (ฝั่งทิศตะวันตก) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ข่าว / ภาพ : รวิพร สายแสนทอง

 

Scroll to Top