Laborer Architecture ไม่ใช่แค่เข้าใจโครงสร้าง แต่เป็นการเข้าใจผู้คน

         “กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้สร้าง ตึกอาคารขนาดใหญ่ ให้ผู้คนสะดวกสบาย แต่ทำไมจะไม่มีสิทธิ์ที่จะได้อยู่อย่างสุขสบายในแบบของเขาบ้าง”

จิรเมธ พฤกษะวัน  นักศึกษาหนุ่มคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักออกแบบสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ กล่าวด้วยท่าทีจริงจัง

โลกเปลี่ยนไปทุกนาที เทคโนโลยีล้ำสมัย ตึกระฟ้ามากมายถูกก่อสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คนหมู่มาก  ขณะที่มีผู้คนกลุ่มเล็ก ๆ อาศัยเพียงเพิงพักสังกะสีในมุมอับสายตา ความสะดวกสบาย คุณภาพชีวิต ของพวกเขา อย่าคิดว่าจะเทียบตึกสูงเหล่านั้นเลย แทบไม่มีใครได้คิดถึงจุดนี้ด้วยซ้ำ

“ชนชั้นแรงงาน” คำนี้เราต่างคุ้นเคยกันดี ในหน้าหนังสือพิมพ์ การเรียกขานผ่านสื่อโทรทัศน์ หรือทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ กลุ่มคนพลัดถิ่น หลากเชื้อชาติ หลายช่วงวัย ที่ทำงานอย่างขะมักเขม้น ใช้แรงงานแลกเงิน จนบางทีถูกเอารัดเอาเปรียบจากทุกมิติ แต่จะดีหรือไม่ หากมี มิติหนึ่ง นั้นคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น มีช่วงเวลาที่ได้เรียกว่าพักผ่อนจริง ๆ ด้วยการออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมที่มองเห็น empathy หรือความเห็นอกเห็นใจ เพื่อนมนุษย์เป็นหลัก

จิรเมธ พฤกษะวัน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักออกแบบสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่

จิรเมธ พฤกษะวัน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในนักออกแบบสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ ได้รับแรงบันดาลใจจากการตั้งคำถามถึงภาพความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานก่อสร้าง หนึ่งในอาชีพที่เต็มไปด้วยความเชี่ยวชาญ และเปี่ยมด้วยความสามารถ ที่ช่วยยกโครงสร้างจากแบบแปลนให้ขึ้นรูปเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบมาหลายยุคสมัย

             “ตามมุมมองของผม กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นคนสร้างสิ่งปลูกสร้างหรือสถาปัตยกรรมสวย ๆ อย่างที่เราได้เห็นกัน แต่พวกเขาไม่ได้อยู่ ผมจึงคิดว่าอย่างน้อยในขณะที่พวกเขากำลังสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังที่หมายอื่น การมีพื้นที่หนึ่งมาช่วยปรับเปลี่ยนหรือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นก็คงจะดีไม่น้อย”  จิรเมธ กล่าว 

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ต้องพลัดถิ่นฐานมาแสวงหาต้นทุนชีวิตในระยะทางที่ห่างไกลจากบ้านเกิด ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ การเดินทางที่มีระยะหยุดพักก็คือการทำงาน ทำให้บางครั้งการมีที่พักพิงแม้จะไม่ได้ถาวรเหมือนที่พักอาศัยที่พวกเขาช่วยลงแรงสร้าง แต่การมีบ้านชั่วคราวที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบาย ก็เป็นสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานควรได้รับเช่นเดียวกับบุคคลในอาชีพแขนงอื่น การสร้างสรรค์ผลงาน ชื่อ  “Laborer Architecture สถาปัตยกรรมผู้ใช้แรงงาน” ของจิรเมธจึงเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องพื้นที่พักอาศัยของผู้ใช้แรงงานก่อสร้างที่ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ภาพเพิงพักในไซต์งานกับการกักตัวรวมกันอย่างแออัดที่พบเห็นผ่านหน้าข่าวทุกช่องทาง จุดประกายให้เขาฉุกคิดและเลือกทำการศึกษาค้นคว้าประเด็นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาใช้ออกแบบผลงานที่จะสามารถเข้าใจปัญหาและเล่าเรื่องราวของแรงงานไม่ใช่แค่ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ แต่เล่าย้อนไปถึงภาพความเป็นอยู่ที่ผ่านมา และภาพที่ควรจะเกิดขึ้นต่อไปในระยะเวลาข้างหน้า

“การค้นคว้าข้อมูลผมเริ่มมองไปที่ปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัวของแต่ละคนก่อน เพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีทั้งแรงงานชาวไทย และแรงงานชาวต่างชาติ บางคนมาคนเดียว บางคนมีครอบครัวมาด้วย เราต้องทำความเข้าใจปัญหาพื้นฐานตรงนี้ของพวกเขาก่อน แล้วจึงมามองต่อไปที่เรื่องการอยู่อาศัยในพื้นที่พักของผู้ใช้แรงงานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยความสะดวกของพวกเขาในตอนนี้ ผมจึงพยายามตีความจากแบบเดิมให้กลายเป็นแบบใหม่ เป็นแบบที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้สามารถปรับตัวอยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายและมีสุขอนามัยที่ดีมากยิ่งขึ้น”

การออกแบบผลงานจิรเมธหยิบเอาลักษณะเฉพาะตัวของอาชีพที่เขาเรียกว่า “ผู้สร้างสถาปัตยกรรม” มาใช้ร่วมกับการคำนึงถึงภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานพลัดถิ่นในไซต์งาน     ที่บางคนข้ามพรมแดนมาพร้อมกระเป๋าหนึ่งใบ บางคนพกพาเอาครอบครัวมาร่วมสู้ชีวิตด้วย ความฝันของพวกเขาเป็นเหมือนโครงสร้างที่ถูกต่อเติมขึ้นไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายและต้องปรับตัวอยู่เสมอ การปรับตัวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้ใหญ่ แต่เกิดกับเด็ก ๆ ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวด้วย พวกเขาต้องย้ายโรงเรียนไปตามพ่อแม่ หรืออาจไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่แรก ทำให้ต้องมีช่องว่างทางการศึกษาเพิ่มขึ้น จิรเมธจึงตั้งใจออกแบบอาคารใหม่ให้สามารถถอดประกอบเพื่อเคลื่อนย้ายไปตามไซต์งานได้ โดยมีทั้งหมด 8 ชั้น แล้ววางยูนิตห้องพักจากตู้คอนเทนเนอร์ออกเป็นสัดส่วน แบ่งระหว่างแรงงานที่พักอาศัยคนเดียวกับแรงงานที่มีครอบครัวอย่างชัดเจนเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังใส่พื้นที่การเรียนรู้อย่างลานฝึกฝีมือแรงงาน ลานกิจกรรม ลานกีฬา เข้าไปเป็นพื้นที่ซับพอร์ตการเรียนรู้และการเติบโตของเด็ก ๆ ในอนาคต

มุมมองต่อการออกแบบผลงาน ที่มุ่งเน้นจะช่วยแก้ไขปัญหาและคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากฝีมือนักออกแบบหนุ่มรุ่นใหม่คนนี้  ส่งให้เขาได้มีโอกาสขึ้นไปนำเสนอผลงาน และเล่าเรื่องราวของ “ผู้สร้างสถาปัตยกรรม” ผ่านโครงสร้างที่เขาออกแบบ บนเวทีประกวด ASIA YOUNG DESINGNER AWARD 2021 และคว้ารางวัล Bronze Award ติดมือกลับมาด้วย รางวัลที่ได้มาเจ้าตัวรู้สึกดีใจราวกับว่าเป็นเรื่องของความบังเอิญ และมองว่าเวทีประกวดทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวมากมาย ได้ศึกษามุมมองแนวคิดจากผลงานของผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ว่าตีความโจทย์ประกวดแบบครั้งนี้ไปในทิศทางที่เหมือนหรือแตกต่างจากผลงานของเขาอย่างไร และให้ความสนใจกับปัญหาที่เขานำมาเสนอมากน้อยแค่ไหน

จิรเมธ ยังเล่าย้อนไปถึงจุดแรกเริ่มที่พาเขาก้าวเข้ามาสู่เส้นทางของการเป็นนักออกแบบว่าเกิดจากจุดเล็ก ๆ ที่รู้ตัวว่าถนัดเรื่องของการคำนวณ และชื่นชอบเรื่องของโครงสร้าง จึงปรึกษาคุณแม่และได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นอย่างดี ทำให้เริ่มฝึกฝนตนเองด้วยการมีเป้าหมายที่แน่ชัดในการเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มาตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 เมื่อเข้ามาเรียนด้านนี้อย่างจริงจังเจ้าตัวบอกด้วยน้ำเสียงกลั้วหัวเราะว่า แตกต่างจากที่เข้าใจในตอนแรกว่าคงจะเน้นเรื่องของการวาดภาพ เพราะตัวเขาไม่ได้อยู่ในระดับที่วาดภาพเก่ง แต่พอเรียนแล้วเขากลับได้เปิดโลก มีมุมมองความคิดใหม่ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์และเพื่อน เป็นมุมมองที่ทำให้เห็นว่าเพียงลองละสายตาจากยอดสูงสุดของสถาปัตยกรรมระฟ้า จะเห็นว่ามีโครงสร้างที่ออกแบบจากเรื่องราวของผู้คนที่เดินสวนผ่านไปมาบนทางเท้ารอบตัวตึกที่เรากำลังเงยหน้ามองอยู่อีกมากมาย

“สถาปัตยกรรมทำให้ผู้คนมีที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น โดยเราจะต้องเข้าใจผู้คนก่อนที่จะทำการออกแบบ ต้องมองไปถึงว่าเขาอยากมีวิถีชีวิตแบบไหน อยากใช้ชีวิตอย่างไร ความเป็นอยู่ประจำวันแม้จะเรื่องเล็กน้อยเราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะลงมือออกแบบ”

สิ่งที่แฝงนัยผ่านคำบอกเล่าของจิรเมธ ทำให้เห็นว่าภายใต้สิ่งปลูกสร้างที่เติบโตอยู่รายล้อมเราต่างมีเรื่องเล่าจากผู้คนมากมาย หลากหลายอาชีพ ล้วนแต่เป็นบุคคลต้นเรื่อง      จุดประกายให้เกิดเป็นการออกแบบโครงสร้างที่เข้าใจปัญหาของผู้อยู่อาศัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเท่าเทียม เพราะ สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้าง การออกแบบ หรือตัวอาคาร แต่คือการเข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจเรื่องราวของผู้อยู่อาศัย ที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีความสวยงามอย่างสมบูรณ์

หากว่าโครงสร้างสถาปัตยกรรมเปรียบเหมือนกระจกส่องสะท้อนเรื่องราวของผู้พักอาศัย  Laborer Architecture ของจิรเมธ ก็เหมือนตัวแทนที่จะช่วยเล่าถึงการมีตัวตนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้สังคมได้รับรู้ ให้หลายคนเข้าใจ เรื่องราวของพวกเขาได้ ผ่านการออกแบบงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เพราะ สถาปัตยกรรมไม่ใช่เพียงโครงสร้าง แต่คือเรื่องราวของการเข้าใจ ใส่ใจ และเห็นอกเห็นใจผู้คน

บทความ :  จิราพร ประทุมชัย  ,  ยุธิดา โฉสูงเนิน

Laborer Architecture is referred not only to understanding of structures, but also understanding of people

https://www.kku.ac.th/12501

 

Scroll to Top