ม.ขอนแก่น สุดล้ำ ยกระดับการเรียนการสอน ด้วยเทคโนโลยี Metaverse

ไม่นานมานี้ หลายคนคงผ่านตาหรือได้ยินคำว่า Metaverse (เมตาเวิร์ส) อยู่บ้าง คำสั้น ๆ แต่สั่นสะเทือนวงการนักลงทุน นักธุรกิจ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในวงการเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่เจ้าพ่อโซเซียลมีเดียอย่าง Mark Zuckerberg  ยังประกาศเปลี่ยน Facebook  จาก Social Media Company เป็น Metaverse  Company เรียบร้อยแล้ว เป็นสัญญาณที่มีน้ำหนักมากพอที่จะช่วยยืนยันว่าโลกของเราจะก้าวสู่ยุค Metaverse  กระทั่งคาดการณ์ว่าคำดังกล่าวจะเข้ามาเปลี่ยนโลกให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

           “Metaverse” มาจากคำว่า Meta ที่แปลว่า เหนือกว่า  พ้น หรือ เกินขอบเขต  สมาสกับคำว่า Universe ที่แปลว่า จักรวาล ดังนั้น Metaverse จึงหมายถึง โลกที่พ้นขอบเขตจักรวาลไปแล้วเกินกว่าที่เรารู้จัก แต่ในทางปฏิบัติ คำนี้ ใช้เรียกแทน โลกเสมือนจริง ที่พาผู้คนหรือผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมและดื่มด่ำไปกับความสนุกอีกโลกหนึ่ง โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR) ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง ใช้ชีวิตคล้ายกับอยู่บนโลกความเป็นจริง

นอกจากวงการนักลงทุนที่ตื่นตัวแล้ว ในแวดวงทางการศึกษาก็เตรียมพร้อมการเรียนการสอนโดยเฉพาะในยุคโรคระบาดที่ไม่สามารถทำการเรียนการสอนในห้องเรียนได้เต็มร้อย ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นเสมอ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะสถาบันการศึกษาที่ถือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาวอีสาน และประเทศไทย ตลอดจนอนุลุ่มน้ำโขง จึงเปิดตัวโครงการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยผ่านประสบการณ์ในโลกเสมือน หรือ Metaverse experience ซึ่งดำเนินการโดยสำนักหอสมุด ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดหาอุปกรณ์ VR headset ใช้งานง่าย และ สามารถ upload educational apps ต่าง ๆ เสริมประสบการณ์การเรียนรู้แก่นักศึกษา เช่น app ที่ช่วยให้นักศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรียนรู้และเข้าใจกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ จากประสบการณ์ในโลกเสมือน ให้เห็นโครงสร้างมนุษย์ในแบบ 3 มิติ เป็นต้น  โครงการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่าน metaverse experience ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ของนักศึกษา และบุคลากร ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ  สนับสนุน เทคโนโลยี โลกเสมือน (Metaverse) มาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อเปิดประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ให้แก่นักศึกษา  รวมถึงยกระดับการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ซ้าย) รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขวา)

        รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนการเรียนรู้ ผ่านการเข้าถึงประสบการณ์ในโลกเสมือนหรือ Metaverse experience ว่า ความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality education for ALL) ตามแนวทางของ Sustainable development goal ข้อที่ 4 (SDG4) โดยเฉพาะการยื่นโอกาสทางการศึกษาสู่ชุมชนทั่วไป (community outreach) ผ่านกิจกรรมด้านการเรียนรู้ในแง่มุมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเน้นย้ำมาตลอด เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนและผู้คนทั่วไป

“เรารู้จักเรื่อง VR มาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่พอถึงจุดที่มีเรื่องของ Metaverse เข้ามา เรื่องของ Metaverse จะเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วและถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งด้านการติดต่อสื่อสารโซเชียลมีเดียยุคใหม่ ที่สามารถเชื่อมทุกคนบนโลกนี้มาอยู่ในโลกเสมือนอันเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในเรื่องของความบันเทิง การเรียนการสอน การศึกษาได้อีกด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงจัดหาและนำอุปกรณ์การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี VR เข้ามาเพื่อให้นักศึกษา บุคลากรของเราได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์โลกเสมือน   ถือเป็นสถาบันการศึกษารายแรกๆของประเทศ ที่นำมาใช้ คาดว่าเทคโนโลยีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้อาจารย์ นักศึกษา นักวิจัยของเรา มีโอกาสในการพัฒนา และสามารถที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งอาจจะเป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านนวัตกรรม การเรียนการสอน หรือการพัฒนาให้เกิดช่องทางการติดต่อสื่อสารแห่งอนาคตได้”

มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างโอกาส และส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของประชาคมมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต  จึงนำร่องใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในสำนักหอสมุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็น นักศึกษา บุคลากร

ด้าน รศ.นพ.สุพัชญ์ สีนะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า metaverse experience ช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนรู้ได้รับประสบการณ์ เสมือนจริง ซึ่งทำให้การเรียนรู้ทางไกล หรือ distant learning สามารถทำได้ในหลายมิติ  เช่น สามารถฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ ได้ เสมือนว่าได้มาร่วมเรียนรู้ในสถานที่จริง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก ในการบวนการ up skill, re skill และการเรียนรู้ new skill สามารถใช้ประโยชน์ได้ในแทบทุกศาสตร์ เช่นด้านการแพทย์   การออกแบบ ตลอดจน การเรียนรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรม เป็นต้น

             หลังจากนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปี 4  ทดลองใช้งานอุปกรณ์ VR headset แล้ว ผู้ใช้บริการได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า

“ทดลองใช้ VR Headset ครั้งแรก ได้เห็นโลกที่เราไม่เคยเห็น ทำให้ผมรู้สึกได้ว่าผมได้อยู่โลกใต้ทะเลจริง ๆ ครับ เหมือนเราได้ไปดำน้ำจริง มีตกใจที่เห็นฉลามมาใกล้ๆ แน่นอนว่าในอนาคต VR เกี่ยวกับการศึกษาน่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีมากเยี่ยมยอดมากครับ ขอบคุณสำหรับประสบการณ์ใหม่ๆด้วยครับ”

การปรับเปลี่ยนภารกิจหลายด้านเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ที่หลากหลายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เช่น พัฒนา platform การเรียนรู้แบบออนไลน์สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต (Learning program  life skill) การเปิดพื้นที่ meeting space เป็นพื้นที่แห่งการพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับทุกคนในชุมชน โดยไม่มีค่าบริการ ตลอดจนการจัดหาอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ที่ล้ำสมัย เช่น VR headset เพื่อส่งเสริมจินตนาการในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning society)  เรียกว่าเทคโนโลยีที่สนับสนุน  Metaverse นี้จะเป็นการสร้างพื้นที่ออนไลน์ใหม่ ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ของนักศึกษารวมทั้งผู้คนในหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น ไม่แน่ว่าในอนาคตห้องเรียนทั้งห้องอาจเชื่อมต่อกันผ่านโลกเสมือนก็เป็นได้

สำหรับผู้ใช้บริการที่สนใจสามารถทดลองใช้งาน VR headset รับประสบการณ์ Metaverse  ที่สำนักหอสมุด และห้องสมุดประจำคณะ ทุกแห่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊กสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น @KKULib

Scroll to Top