คณะมนุษย์ มข. จัดโครงการคติชนสร้างสรรค์ : การตลาดเล่าเรื่องจากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโบราณสถานอโรคยาศาลกู่แก้ว

เมื่อวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2564 สาขาวิชาภาษาไทย ร่วมกับสาขาลุ่มน้ำโขงศึกษา  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการคติชนสร้างสรรค์ : การตลาดเล่าเรื่องจากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโบราณสถานอโรคยาศาลกู่แก้ว ณ วัดกู่แก้วสามัคคี ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดย อาจารย์ ดร.แก้วตา  จันทรานุสรณ์ ผู้รับผิดชอบโครงการ ภายใต้เงื่อนไขการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ท่านศุภชัย  ลีเขาสูง นายอำเภอเมืองขอนแก่น ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ร่วมฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับแผนพัฒนาเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่บริการวิชาการ  ทั้งยังเสนอแนวทาง  การสื่อสารเนื้อหาทางวัฒนธรรมที่มีส่วนส่งเสริมอัตลักษณ์ของตำบลดอนช้างให้โดดเด่นยิ่งขึ้น โดยมีผู้นำ ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลดอนช้างร่วมกิจกรรมและรับทราบแผนงานโครงการคติชนสร้างสรรค์ฯ

นายศุภชัย  ลีเขาสูง นายอำเภอเมืองขอนแก่น
นายศุภชัย  ลีเขาสูง นายอำเภอเมืองขอนแก่น

การจัดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลฐานรากทางสังคมวัฒนธรรมในชุมชนแหล่งโบราณคดีประเภท อโรคยาศาลสู่การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและอาหาร ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รวมทั้งการบูรณาการความรู้สหสาขาและเสริมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 และเพื่อบูรณาการผลการศึกษาศักยภาพของพื้นที่โบราณคดีในเขตเมืองขอนแก่นกับการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาคติชนวิทยา หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย และรายวิชาภาษากับวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตลอดทั้งโครงการ ได้มีกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน เริ่มต้นจากวันที่ 9 กรกฎาคม 2564 ช่วงเช้า อาจารย์ ดร.เวียงคำ  ชวนอุดม หัวหน้ากลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บรรยายเรื่อง “ความสำคัญของอโรคยาศาลกู่แก้ว และโอกาสด้าน การท่องเที่ยวแหล่งโบราณสถาน ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี” คุณกุลวดี  สมัครไทย นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น บรรยายเรื่อง “วิถีพระโพธิสัตว์ กับคติความเชื่อว่าด้วย พระวัชรธร พระวัชรปาณี และพระยม ณ อโรคยาศาลกู่แก้ว” ซึ่งข้อมูลทั้งสองท่านมีส่วนช่วยให้ผู้นำและ ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลดอนช้างเกิดความตื่นตัวและเห็นแนวทางในการสื่อความหมายของพื้นที่ในมิติต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและลุ่มลึกมากขึ้น ช่วงบ่าย พระครูวุฒิธรรมาภิราม ดร.จต.ดอนช้าง เจ้าอาวาสวัดกู่แก้วสามัคคี ขอนแก่น บรรยายเรื่อง “บุคลาธิษฐาน ตำนานพญาอนันตนาคราช ณ อโรคยาศาลกู่แก้ว” ได้ชี้ให้เห็นพลังแห่งความเมตตาของธรรมชาติที่เกื้อกูลชีวิตและจิตใจ ก่อให้เกิดความตระหนักรู้และความศรัทธาที่จะระวังรักษาพื้นที่     อโรคยาศาลกู่แก้วในฐานะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์รวมใจของชาวดอนช้าง รองศาสตราจารย์ ดร.รวี  หาญเผชิญ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการพัฒนาเมือง ได้บรรยายเรื่อง “ขอนแก่นโมเดล : การพัฒนาเมืองจากฐานนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำ” เพื่อเชื่อมสู่ประเด็น  “ผังเมืองโบราณ : ฟื้นอดีต ปลุกอนาคต ความท้าทายของการสร้าง Smart City จากฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” และการผลักดันให้เกิดกู่แก้วโมเดล เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์มรดก ทางวัฒนธรรมโดยชุมชนตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

สำหรับวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ช่วงเช้า นางสาวพิชรญา  เพียเพ็ชร นักวิชาการชำนาญการ กองการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บรรยายเรื่อง “นักเรียนแพทย์แผนไทย กับ ประสบการณ์พิสูจน์ปรากฏการณ์ “วิษุวัต” และ “วันเพ็ญ” แห่งเดือน “ไจตระ และ พิธีศารท” ตามคำแนะนำของนักพิภพวิทยา อาจารย์สรรค์สนธิ  บุณโยทยาน ในวันมหาสงกรานต์ ที่ 14 เมษายน 2564 และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ข้อมูลดังกล่าวมีส่วนเสริมความหมายของอโรคยาศาลกู่แก้วให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นและเชื่อว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพิสูจน์แสงแรกในวันมหาสงกรานต์ ณ โบราณสถาน  แห่งนี้  พท.สาธิตาพงศ์  รักพวก ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยบุญโอบ คลินิกแพทย์แผนไทย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บรรยายเรื่อง “อโรคยาศาล กับ ตำนานโรคระบาด และแนวคิดการรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับแพทย์แผนไทยโบราณ” และ บรรยายต่อในช่วงบ่าย เรื่อง “สรรพคุณทางยาของสมุนไพรในจารึก ณ อโรคยาศาล และความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด 19” ซึ่งท่านไม่เพียงแต่เป็นผู้ประยุกต์ใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยในเชิงบูรณาการร่วมกับศาสตร์อื่น แต่ยังเน้นการรักษาความสมดุลของระบบธาตุและเลือดลมด้วยสมุนไพร โดยในกิจกรรมนี้ท่านได้กล่าวถึงตัวยาสมุนไพรไทยที่มีประวัติการต้านไวรัสและเชื่อว่าสมุนไพรไทยสามารถยับยั้งและรักษาโรคระบาดโควิด 19 ได้ จากนั้น นายนนทวัฒน์  แก้วดี ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย คลินิกรวมแพทย์ ขอนแก่น บรรยายเรื่อง ถอดรหัส “เกลือ และน้ำดอกไม้” กับการรักษาของภูมิปัญญาแพทย์   แผนไทยในอโรคยาศาล โดยเน้นหลักการใช้เกลือและกัญชา รวมทั้งแนวทางในการต่อยอดให้สมสมัยและใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น และวิทยากรท่านสุดท้าย คุณณัฐภรณ์  คมจิต  นักนำเสนออาหารและผู้จัดการร้าน “เฮือนคำนาง” บรรยายเรื่อง “แนวคิดการออกแบบสำรับอาหารตำรับอโรคยาศาลกู่แก้ว ดอนช้าง  อำเภอเมือง ขอนแก่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและสุขภาพ”โดยเน้นการสื่อสารความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับ แหล่งวัตถุดิบอาหาร การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาลที่มีสรรพคุณทางยาเพื่อปรุงอาหาร บำรุงธาตุ กรรมวิธีในการปรุง  การจัดวางอาหารในสำรับให้สวยงาม และการเล่าเรื่องเชิงคุณค่าเพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาด รวมทั้งรังสรรค์เมนูพิเศษตำรับกู่แก้วเพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมชุมชนดอนช้างให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจบการบรรยายได้มีการเปิดให้ผู้ร่วมโครงการซักถามข้อสงสัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นก่อนปิดโครงการ

 

ข่าว : กาญจนาพร พองพรม

ภาพ : งานเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

HUSO, KKU, organizes the Creative Folklore Project for marketing cultural wisdom heritage and promoting the archaeological tourism site at Koo Kaew Health-Care Shrine

https://www.kku.ac.th/11630

Scroll to Top