มข.จัดเสวนา “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย” ให้ความรู้ประชาชน

……………เมื่อวันเสาร์ที่  3  เมษายน  2564  เวลา 8.30 น. สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมกับฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย จัดงานเสวนาวิชาการ “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย”  โดยมี ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา กล่าวรายงานต่อ  รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ประธานพิธีเปิด โดยมี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น  และผู้สนใจจากหลากหลายหน่วยงาน สถาบัน และกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมในงานเสวนาวิชาการกว่า  60 คน โดยมีพิธีเปิดการเสวนา ณ แปลงเพาะปลูกกัญชง หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ และจัดงานเสวนาวิชาการ และจัดนิทรรศการให้ความรู้ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกัญชง จำนวน 10 บูธ  ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศาสตราจารย์มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา

……………ศาสตราจารย์มนต์ชัย  ดวงจินดา  กล่าวว่า  “ตามที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย มีภารกิจหลักในการดำเนินโครงการวิจัยกัญชากัญชงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2563) จำนวนพื้นที่ ในการเพาะปลูก 1,664 ตารางเมตร ณ หมวดพืชผัก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้รับเมล็ดพันธุ์กัญชงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มาทำการปลูก  การปลูกกัญชงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ศึกษาวิจัยการประเมินและพัฒนาสายพันธุ์กัญชงเพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการจัดพิธี “กัญชงลงแปลง” สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น เพื่อให้บุคลากร ประชาชนผู้สนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านการปลูก การขออนุญาต และการใช้ประโยชน์จากกัญชง ตลอดถึงความรู้และความใจเกี่ยวกับกัญชงด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการปลูกที่ต้องสร้างความเข้าใจและให้องค์ความรู้ เนื่องจากต้องดำเนินงานภายใต้กฎกระทรวงระบุไว้ซึ่งต้องมีปริมาณ Tetrahydrocannabinol (THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง การปลูกกัญชงจึงเน้นระยะห่างระหว่างต้นให้ใกล้กันที่สุดซึ่งจะไปกระตุ้นให้มีลำต้นยาวตรงสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้อง หรือข้อยาว เพื่อนำเส้นใย แกนลำต้น เมล็ด และใบจากกัญชง มาใช้ประโยชน์  การจัดกิจกรรม “ร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย” ในวันนี้  ด้วยเห็นความสำคัญในเรื่องการให้ความรู้แก่บุคลากรและประชาชน สถาบันแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา และกองบริหารงานวิจัย จึงร่วมกันจัดงานขึ้น”

รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

……………รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  กล่าวว่า  “สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกัญชงเพื่อการนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ ในมนุษย์และสัตว์ รวมไปถึงการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ สถาบันวิจัยแคนนาบิสครบศาสตร์ ได้ดำเนินโครงการวิจัยพืช กัญชา เพื่อการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ การวิเคราะห์สารสำคัญ รูปแบบยา และการวิจัยคลินิกทางการแพทย์และสัตวแพทย์ ศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธุ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ได้ได้รับใบอนุญาตในการผลิต (ปลูก) กัญชง (ตามหนังสือสำคัญ ที่ 19/2563 เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2563) ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่แรกในจังหวัดขอนแก่นและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ ซึ่งในการจัดกิจกรรมขึ้นในวันนี้ เป็นกิจกรรมการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชง ให้กับวิสาหกิจชุมชน ชุมชน หน่วยงาน ภาครัฐบาล เอกชน และการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายที่บังคับใช้ ตลอดจนเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล เพื่อเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารต่างๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสาธารณชน ของจังหวัดขอนแก่น  มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมที่จะทำเป็นศูนย์อุตสาหกรรมกัญชงขนาดใหญ่  แม้การใช้กัญชงกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมาค่อนข้างมีข้อจำกัด ในการนำกัญชงมาใช้รักษาโรคในทางการแพทย์”

……………“ปัจจุบัน มีความก้าวหน้ามาก เพราะได้นำเมล็ดพันธ์กัญชาจากภาคเหนือมาทดลองปลูกในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ต่างจากภาคเหนือมาก ทั้งเป็นพื้นที่ต่ำ และมีสภาพอากาศ แสงแดด และอุณหภูมิที่ค่อนข้างแตกต่าง แต่หลังจากนำมาทดลองปลูกพบว่า ได้ผลผลิตดี  เพราะโดยปกติยอดกัญชา จะเก็บเก็บเกี่ยวต้องใช้เวลาประมาณหกเดือน แต่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเก็บผลผลิตได้เลยตั้งแต่ช่วงสามเดือน  ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วตั้งแต่ช่วงสามเดือน อาจเป็นเพราะฤดูกาลเป็นตัวแปร หรือแสงแดด   ทีมที่กำลังทำการศึกษาในประเด็นนี้อยู่ด้วย แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกที่พบคือ แม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะแตกต่าง แต่ต้นกัญชาสามารถปลูกในพื้นที่ดังกล่าวได้จริง โดยที่ไม่กลายพันธุ์   มีการพัฒนาสายพันธุ์เป็นของประเทศไทยเอง ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์แรกของประเทศไทย โดยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีทั้งกัญชงและกัญชา คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จะมีเป็นสายพันธุ์ต้นแบบของขอนแก่นที่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสามารถขยายเมล็ดพันธุ์นำไปปลูกได้ทั่วประเทศไทย”

……………“นอกจากนี้ราคาตามท้องตลาดในการจำหน่ายเมล็ดพันธ์กัญชง ได้มีการคาดการณ์ว่า อาจอยู่ที่กิโลกรัมละ 200,000 บาท จนถึง กิโลกรัมละ 1 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ความเป็นไปได้ของราคาน่าจะอยู่ที่ 200,000 บาทมากกว่า 1 ล้านบาท ในขณะที่ตอนนี้บริษัทหลายแห่งมีความต้องการที่จะมาขอซื้อเมล็ดพันธุ์กัญชง ขอร่วมลงทุนปลูกและสกัด เพื่อส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นจึงถือได้ว่ากัญชงจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศได้”

……………“ประโยชน์ของกัญชงพบว่า ไฟเบอร์บริเวณลำต้นของกัญชงสามารถนำไปทำเสื้อ เครื่องนุ่งห่มได้ ซึ่งโดยปกติแล้วชาวเขาก็ใช้วิถีชาวบ้านทำมาก่อนแล้ว ตลอดจนมีคุณสมบัติพิเศษเพราะ เมื่อนำมาสวมใส่ในหน้าร้อนจะไม่รู้สึกร้อน ใส่ในหน้าหนาวก็จะไม่รู้สึกหนาว เป็นต้น เพราะมีฉนวนกันความร้อน รวมถึงสามารถนำไปใส่ในอิฐมวลเบาใช้ในการก่อสร้างบ้านได้ ช่วยในการประหยัดพลังงาน หรือแม้แต่สามารถนำไปทำเป็นแบตเตอรี่ได้ พร้อมทั้งสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าลิเทียมไอออนถึง 10 เท่า  คาดฝันว่า พื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอีสาน 10 ล้านไร่ หากสามารถเปลี่ยนมาเป็นแปลงกัญชงประมาณ 4 ล้านไร่ สภาพอากาศก็จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามการจะดำเนินการดังกล่าวยังมีเงื่อนไขที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องของกฎหมาย เพราะกฎหมายยังไม่อนุญาตให้เอกชนสามารถปลูกกัญชงได้อย่างอิสระ ดังนั้นวิสาหกิจชุมชนต่าง ๆ ต้องมาจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัย ในอนาคตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด นำไปสู่การผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”  รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  กล่าวในที่สุด

……………หลังพิธีเปิดงานเสวนาวิชาการ “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย” ได้มีกิจกรรมทัวร์แปลงกัญชง พร้อมบรรยายให้ความรู้ระบบการปลูกแบบต่างๆ และการบรรยายเรื่องการนำเส้นใยกัญชงไปใช้ประโยชน์ และการผลิตเส้นใยกัญชง  โดย ผศ.ดร.ชานนท์ ลาภจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกกัญชงกัญชา  และ ครูนวลศรี  พร้อมใจ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผลิตภัณฑ์ใยกัญชงทรายทอง

……………ภาคบ่าย ณ ห้องสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เป็นการบรรยายและเสวนาวิชาการ “ร่วมคิดร่วมฝันปลุกปั้นกัญชงไทย”  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  นายวินัย สมประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช  กรมวิชาการเกษตร และ ผศ.ดร.ชานนท์  ลาภจิตร อาจารย์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูก สาขาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เสวนาในหัวข้อ เทคนิคและระบบการปลูก  รองศาสตราจารย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชานนท์  ลาภจิตร  หัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายด้านกฏหมายในการนำกัญชงมาใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ และเรื่องการยื่นขออนุญาตต่างๆ”    เภสัชกรเชิดชัย อริยานุชิตกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น  และ เภสัชกรหญิงอังศุรัตต์ ยิ้มละมัย เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น หัวข้อ  “การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”  ผู้ดำเนินการเสวนา โดย นางเบญจมาภรณ์  มามุข  หัวหน้างานสื่อสาร กองสื่อสารองค์กร  โดยมีหัวข้อสุดท้าย “แนวทางความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น” โดย ศาสตราจารย์มนต์ชัย  ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา เป็นวิทยากร

……………มหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภาคอีสาน และจังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับอนุญาตให้มีการปลูกกัญชงเพื่อการศึกษาวิจัยฯ  โดยมีการวางระบบอย่างครบวงจร ทั้งการปลูก  การครอบครอง การสกัด และการทดลอง  ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง   แปลงทดลองปลูกทั้งกัญชงและกัญชา  ได้เปิดแปลงให้ผู้สนใจได้เยี่ยมชมได้ตลอดทั้งวัน  นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมร่วมคิด ร่วมฝัน ปลุกปั้น กัญชงไทย มีบูธนิทรรศการให้ความรู้และบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา  ซึ่งแปลงปลูกนี้จะได้เก็บรวบรวมสายพันธุ์ที่เป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเพาะปลูกให้เป็นพืชเศรษฐกิจ  รวมทั้งร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่สนใจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเพาะปลูก ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู
ภาพ  :   ณัฐพงษ์  ชำนาญเอื้อ

KKU holds a forum on “Dreaming together for Thai hemp development”

https://www.kku.ac.th/10283

Scroll to Top