มข. นำร่องจัดสอนรายวิชา Spring Virtual Global Health Experience ร่วมกับโครงการ USAC และ Clemson University ประเทศสหรัฐอเมริกา

ฝ่ายการต่างประเทศ นำโดย ผศ.ดร.อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ ร่วมกับคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ จัดการเรียนการสอนในรายวิชา Spring Virtual Global Health Experience (Pilot program not-for-credit) โดยเป็นความร่วมมือกับโครงการยูแสค (University Study Abroad Consortium: USAC) และ Clemson University ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคม 2564 โดยมีนักศึกษาจาก Clemson University จำนวน 12 คน และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 14 คน เข้าร่วมเรียนในวิชาดังกล่าว

วันที่ 15 มีนาคม 2564 เป็นการบรรยายในหัวข้อภาพรวมของการสาธารณสุขในประเทศไทย โดย รศ. ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย จากคณะเภสัชศาสตร์ และหัวข้อระบบสุขภาพในประเทศไทย โดย อ.ดร.พญ.เสาวนันท์ บำเรอราช จากคณะแพทยศาสตร์

วันที่ 16 มีนาคม 2564 เป็นการบรรยายในหัวข้อการสาธารณสุขมูลฐาน และตัวอย่างของหน่วยบริการปฐมภูมิในจังหวัดขอนแก่น โดย ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ จากคณะแพทยศาสตร์ และหัวข้อการสาธารณสุขมูลฐาน การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดย ผศ.ดร.จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี จากคณะพยาบาลศาสตร์ นอกจากนี้นักศึกษาจากคณะพยาบาลศาสตร์ยังรวมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล และการบริการชุมชนอีกด้วย

วันที่ 17 มีนาคม 2564 ผศ.ดร. ฑีฆายุ พลางกูร จอร์นส จากคณะทันตแพทยศาสตร์ ได้บรรยายในหัวข้อการดูแลสุขภาพช่องปากในประเทศไทย และหัวข้อทันตกรรมชุมชนและการศึกษาทางด้านทันตกรรมในประเทศ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 6 จากคณะทันตแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายในหัวข้อการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย โดย ผศ.ดร.ศรีสมพร ปรีเปรม จากคณะเภสัชศาสตร์

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ผศ.ดร. อัจฉราวรรณ โตภาคงาม ได้บรรยายในหัวข้อเภสัชกรชุมชนในประเทศไทย อีกทั้งยังมีการบรรยายถึงบทบาทของเภสัชกรในร้านยา และตัวอย่างการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดย ภญ.ณัฏฐธิดา หาญสุริย์ จากคณะเภสัชศาสตร์

วันที่ 19 มีนาคม 2564 มีการจัดเป็นกิจกรรมให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักศึกษาจาก Clemson University แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และประสบการณ์การเรียนเรียนรู้จาก 4 วันที่ผ่านมา รวมถึงนำเสนอผลการเรียนรู้เป็นรายกลุ่ม ทั้งนี้อาจารย์ผู้สอนทุกท่านจะร่วมให้ข้อเสนอแนะและสะท้อนผลการเรียนรู้ของนักศึกษา

รายวิชา Spring Virtual Global Health Experience (Pilot program not-for-credit) ถือเป็นกิจกรรมนำร่องการเรียนการสอนออนไลน์ระยะสั้น และจากผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีแผนการขยายผลการจัดรายวิชาในลักษณะการสอนแบบออนไลน์ในสาขาวิชาอื่นๆ รวมถึงการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Internship), Exchange Program, Training Program และ Mobility Program เป็นต้น

ข่าว : ภัทรธีรา ทุมทัน
ภาพ : ภัทรธีรา ทุมทัน/จริยา สงวนรัตน์

Scroll to Top