“มข.” จับมือ “อพ.สธ.” ฝึกอบรมสำรวจจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น

สำนักข่าว: บ้านเมือง
URL: https://www.banmuang.co.th/news/region/203125
วันที่เผยแพร่: 19 ส.ค. 2563

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ที่ ห้องสิริคุณากร 3  อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จัดอบรมปฏิบัติการสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร 9 ใบงาน โดยได้รับเกียรติจาก  ศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในพิธี  และมี ผศ.ดร. เพ็ญประภา  เพชระบูรณิน  รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการ และมีเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 60 คน
ผศ.ดร. เพ็ญประภา กล่าวว่าโครงการฝึกอบรมปฏิบัติการสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น หลักสูตร 9 ใบงานมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้การดำเนินงานสำรวจและจัดทำฐานทรัพยากรท้องถิ่น ในการเก็บข้อมูล 9 ใบงาน ภายใต้การสนองพระราชดำริงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นของ อพ.สธ. ที่ถูกต้อง โดยเป็นการอบรมให้เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามแผนแม่บท อพ.สธ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระยะ 5 ปี (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2564) ซึ่งกระบวนการที่ใช้ในการฝึกอบรม ประกอบด้วย การบรรยายและการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ทำความเข้าใจในกระบวนการ รวมทั้งการสรุปผลและนำเสนอผลการปฏิบัติการของผู้เข้าร่วมอบรม
ผศ. ดร. เพ็ญประภา กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น สนองพระราชดำริโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เป็นระยะเวลากว่า 23 ปี โดยมีนักวิจัยสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมเป็นคณะปฏิบัติงานวิทยาการ ดำเนินงานสำรวจ ศึกษาวิจัย ค้นคว้า ทรัพยากรกายภาพชีวภาพรวมทั้งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในพื้นที่ปกปักทรัพยากรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนอกจากงานสนองพระราชดำริเป็นคณะปฏิบัติงานวิทยาการ อพ.สธ. แล้ว มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังสนองพระราชดำริในกรอบกิจกรรมอื่นๆ ของ อพ.สธ. และหนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือการเป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ 5 มหาวิทยาลัย จาก 70 มหาวิทยาลัยที่สนองพระราชดำริ เป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงานโครงการ อพ.สธ. และมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัย ที่รับผิดชอบพื้นที่ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด และนอกจากนี้อพ.สธ. ได้พิจารณาให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. – มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้กิจกรรมที่ 8 กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อเป็นหน่วยงานประสานงานสนองพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย โรงเรียนโดยการสมัครสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครสมาชิกงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น
รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจ การจัดฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมทั้งการเป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด และช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. ในแต่ละภูมิภาคต่อไป
ด้านศ.ดร. ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มข.กล่าวว่า  มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสถาบันที่พร้อมเปิดพื้นที่และสนับสนุนการเรียนรู้  ตามนโยบายให้ความสำคัญด้านประชาคมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสริมสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ ( People ) สร้างหลักสูตรใหม่  สร้างความร่วมมือกับองค์การภายนอก ทั้งรัฐ เอกชน และระดับท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์รวมการกระจายองค์ความรู้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชนในทุกมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนฐานทรัพยากรท้องถิ่นตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ  ฝึกอบรมบุคลากรหน่วยงานในพื้นที่เป้าหมาย ตามหลักสูตร อพ.สธ. ให้มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น โดยหวังว่าการอบรมครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรท้องถิ่น สร้างความรู้ตลอดจนปลูกฝังการหวงแหนดูแลสิ่งแวดล้อม แก่ เยาวชน และประชาชนสืบไป
โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ. และรองหัวหน้าสำนักงาน อพ.สธ. ฝ่ายวิชาการ บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ แนวทางการดำเนินงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นตามแนวทางของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ใช้เวลาทั้งสิ้นจำนวน 4 วัน ระหว่างวันที่ 18-21 สิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยมีหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและมหาวิทยาลัย ทั้งสิ้น 27 แห่ง รวมจำนวน 60 คน.
Scroll to Top