มข.รวมฐานข้อมูล covid-19 ตอบโจทย์ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ ใช้ข้อมูลสร้างกลยุทธ์กำหนดนโยบายเมือง

https://smartcity.kku.ac.th/ เป็นแพลตฟอร์มภายใต้โครงการการพัฒนาขอนแก่นให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความสะดวกสบาย เดินทางง่าย มีเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ชาญฉลาดรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย โดยในเว็บไซต์ จะมีข้อมูลสำคัญ 6 ด้าน  ประกอบไปด้วย SMART MOBILITY  SMART LIVING   SMART ECONOMY  SMART CITIZEN   SMART ENVIRONMENT SMART GOVERNMENT  ต่อมาเมื่อประเทศไทยเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19  ทีมวิจัยในโครงการฯจึงได้พัฒนาเพิ่มข้อมูล เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อที่จังหวัดขอนแก่นจะสามารถประเมินความเสี่ยง และ วางแผนการกำหนดนโยบายได้อย่างรัดกุมที่สุด

รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น / นักวิจัยในโครงการ KKU Smart City

รศ.ดร.วนิดา แก่นอากาศ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น / นักวิจัยในโครงการ KKU Smart City เปิดเผยว่า  https://smartcity.kku.ac.th/ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในช่วงปี 2561 เป็นแพลตฟอร์มที่มีข้อมูลการใช้ชีวิตในจังหวัดขอนแก่น ต่อมาในช่วงที่จังหวัดขอนแก่นมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 คณะทำงานจึงคิดว่าควรจะมีข้อมูลว่าขณะนี้จังหวัดขอนแก่นอยู่ในระดับใด รวบรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นแพลตฟอร์ม https://smartcity.kku.ac.th/ ณ ปัจจุบัน จึงเป็นแหล่งสารสนเทศที่รวบรวมทุกแหล่ง และทุกปัจจัยที่น่าจะเกี่ยวข้อง เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ประกอบด้วย  ข้อมูลโควิด-19 เป็นสถิติโลก   ข้อมูลโควิด-19ประเทศไทย  ข้อมูลโควิด-19ภูมิภาค  ข้อมูลโควิด-19 ขอนแก่น  ระบบพยากรณ์โควิด-19ล่วงหน้า 30 วันด้วย AI  บุคลากรทางการแพทย์   โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่น  นวัตกรรมต้านภัยโควิด-19 ข้อมูลกลุ่มเสี่ยง   เส้นทางบินทั่วโลก การบินภายในประเทศ

“ลักษณะการทำข้อมูลแบบนี้เราได้ความรู้พื้นฐานที่ดีมาจากสิงคโปร์ เช่น จาก 1 เคสเขาจะแตกรายละเอียดว่าคนนี้มี activity ช่วงเวลาไปสัมผัสกับใคร เป็นก้อน network ที่ทำให้เราเห็นว่าคนหนึ่ง ที่เป็น case เขาไปโผล่สถานที่นี้ซึ่งมีจำนวนคนอยู่ในสถานที่เท่าไหร่ เขาเป็นซุปเปอร์ Super Spreader หรือเป็นแค่คนที่หลงเข้าไป บริเวณนั้นแล้วติด หรือว่า อยู่ๆก็เป็น ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีที่ไหนทำ ฉะนั้น การที่เราจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้ต้องมีสารสนเทศที่ทำให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่าตอนนี้ขอนแก่นอยู่ในสถานการณ์ที่รับได้หรือไม่ คณะทำงานจึงพยายามนำข้อมูลสารสนเทศมาให้เยอะที่สุด ไม่ใช่แค่ข้อมูลที่นำมาจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การพยากรณ์สถานการณ์ล่วงหน้า 30 วัน  โดยการทำนายนั้นเป็นการใช้คณิตศาสตร์ระบบ mathematical model เกิดจากการนำข้อมูลที่ผ่านมา มาประมวลผล และ ใช้ฟังก์ชันการประมาณ approximation เรียนรู้พฤติกรรมของ curve จะได้ฟังชั่นมาต่อจากนั้นก็นำข้อมูลในปัจจุบันยิง timeline ไป และแม้ว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นข้อมูลด้านสถิติ แต่การนำเสนอจะออกแบบมาให้เข้าใจง่าย โดยการสร้างภาพ แผนผัง หรือ ภาพเคลื่อนไหว ซึ่งคนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ ว่าแนวโน้มที่จะโค้งลงหรือจะพุ่งขึ้น”รศ.ดร.วนิดา กล่าว

ในการรวบรวมข้อมูล คณะทำงานจะรวบรวมข่าวในแต่ละวันจากทั่วโลก และ ทั่วประเทศ  มาสกัดและใส่ในเว็บไซต์เป็นประจำทุกวันเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ เม่นยำเมื่อนำไปใช้  ฉะนั้นการทำเว็บไซต์นี้จึงไม่ได้มุ่งหวังการเป็นเพียงนวัตกรรมของการรวบรวมข้อมูล แต่การส่งต่อ และ การถูกเผยแพร่นำไปใช้จริง  คือ ประโยชน์สูงสุดที่เกิดจากการแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ร่วมกัน

“ในอนาคตเราจะต้องเพิ่มข้อมูลเรื่องผู้ประกอบการ ที่มีผลกระทบที่ถูกปิดมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งสักพักอาจจะคาดการณ์ได้ว่าอาจจะมีเรื่องของอาชญากรเกิดขึ้น หรือ อาจจะมีเรื่องของโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย  มันอาจจะมีเรื่องพวกนี้ให้ตัดสินใจว่า ถ้าสมมุติว่ามีการปิดกิจการยาว จะมีความปลอดภัยหรือไม่อย่างไร ฉะนั้น การทำแพลตฟอร์มนี้จึงเป็นการแชร์ข้อมูลความรู้ ไม่ใช่แค่เรื่องการใช้นวัตกรรมให้ได้ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่ คือการที่จังหวัดอื่นสามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ ถ้าเมืองเราแชร์องค์ความรู้กัน เราไปช่วยกันใช้ ช่วยกระจายกัน เมืองเราก็ปลอดภัย  เพราะฉะนั้นข้อมูลในเว็บไซต์นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ กับประชาชนทั่วไปแล้ว  ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อระดับผู้บริหาร ผู้กำหนดนโยบาย คนที่มี policy maker มีอำนาจในการตัดสินใจถ้าตัดสินใจถูกทางจะไปถูกทาง การจะเป็นเมืองอัจฉริยะได้จะต้องมีกลยุทธ์ในด้านการใช้ข้อมูลที่ชัดเจนเอาไว้วางแผนนั่นเอง” ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวทิ้งท้าย

ข่าว : รวิพร สายแสนทอง

Scroll to Top