สุดยอดนวัตกรรมการพัฒนานักศึกษาของ COLA ในผลงาน “กงล้อการพัฒนาความเป็นเลิศนักศึกษา ด้วย “พา” โมเดล ได้รับคัดเลือกจาก อว. ให้นำเสนอในเวทีสัมมนาวิชาการระดับประเทศ!!

โมเดลนวัตกรรมการพัฒนาความเป็นเลิศนักศึกษา ของฝ่ายพัฒนานักศึกษา ฯ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น COLA KKU โดยการนำของ อ.ดร.สุริยานนท์ พลสิม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ในชื่อผลงาน “กงล้อการพัฒนาความเป็นเลิศนักศึกษา ด้วย “พา” โมเดล” ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการด้านพัฒนานักศึกษา ปี 2567 “เสริมพลังนิสิตนักศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: การบูรณาการ SDGs สู่อุดมศึกษาไทย” ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนแวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี
.
.
อ.ดร.สุริยานนท์ พลสิม
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์
.
อ.ดร.สุริยานนท์ พลสิม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์  กล่าวว่า “แนวคิดหลักของนวัตกรรมการพัฒนาความเป็นเลิศนักศึกษา ด้วย “พา” โมเดล นี้ ได้ปรับเปลี่ยนจากแนวคิดการพัฒนานักศึกษาจาก student-centric approach มาสู่ student-driven approach ที่กิจกรรมการพัฒนาด้านต่าง ๆ จะถูกขับเคลื่อนโดยนักศึกษาเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ ตัวแบบกงล้อ “พา” โมเดล นี้ ยังประกอบด้วย 2 กงล้อหลักที่ขับเคลื่อนด้วยนักศึกษาของวิทยาลัย ฯ ได้แก่ “COLA พาโส” และ “COLA พาลุย” ซึ่งกงล้อแต่ละกงล้อมีรูปแบบและจุดเน้นในการพัฒนานักศึกษาที่แตกต่างกันไป โดย COLA พาโส มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาให้นักศึกษากลายเป็น “ผู้สื่อสารสังคม (social influencer)” ผ่านการนำเอาประเด็นปัญหาร่วมสมัยของสังคมด้านต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนและสื่อสารกับสังคม ภายใต้คอนเซป “COLA พาโส – ถกประเด็นร้อน สะท้อนสังคม” โดยมีนักศึกษาของวิทยาลัย ฯ เป็นคนขับเคลื้อนกิจกรรมหลัก ซึ่งจัดขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ ในระหว่างเปิดภาคเรียน”
.

ส่วนกงล้อ COLA พาลุยนั้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในระหว่างปิดภาคเรียน โดยมุ่งผลิตให้นักศึกษากลายเป็น “ผู้ว่าการสังคม (social governor)” ผ่านการนำนักศึกษาไปร่วมเรียนรู้และทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในพื้นที่จริงระหว่างช่วงปิดเทอม เพื่อให้นักศึกษาได้คลุกคลีและเรียนรู้บริบทการทำงานจริงในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน หรือภาคเอกชนในพื้นที่เป้าหมายของแต่ละเทอม ซึ่งนักศึกษาจะได้มีโอกาสในการนำทฤษฎีที่ได้เรียนมาทดลองเชื่อมโยงเข้ากับการแก้ไขปัญหาในชุมชนที่เกิดขึ้นจริง และเมื่อจบการศึกษาออกไปก็จะสามารถทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

Scroll to Top