นิติศาสตร์เพื่อสังคม การพัฒนานักกฎหมายรุ่นใหม่ผ่านห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab)

นิติศาสตร์เพื่อสังคม ลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหาเพื่อพัฒนานักกฎหมายรุ่นใหม่ผ่าน Social Lab เสริมประสบการณ์และบูรณาการองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 7 – 8 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ โดย อาจารย์ปริศนา คำชาย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการพัฒนานักศึกษา อาจารย์นรากร วรรณพงษ์ อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน ที่ปรึกษาสโมสรนักศึกษา และสโมสรนักศึกษา จัดโครงการนิติศาสตร์เพื่อสังคม ลงพื้นที่เรียนรู้ผ่าน Social Lab  ณ ศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.สังคม จ.หนองคาย

ในกิจกรรมครั้งนี้มี การสร้างกระบวนการ Social Lab ให้นักศึกษาได้มีโอกาสเปิดใจร่วมเรียนรู้ ร่วมคิดและออกแบบ (Create and Design) ในการประสานความร่วมมือและวิธีการทำงานร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ เพื่อความท้าทายในการเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน

หลังจากนั้นได้มีการวางแผนและช่วยกันสร้างฝ่ายชะลอน้ำ เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ โดยมีการสำรวจทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารให้สามารถกักเก็บน้ำที่จะสามารถหล่อเลี้ยงต้นไม้ในฤดูแล้งได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำ ต่อมามีการศึกษาเส้นทางแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟป่าลุกลามเข้าไปในพื้นที่คุ้มครองของศูนย์อนุรักษ์ฯ พร้อมการบรรยายจากเจ้าหน้าที่ในเรื่องของบทบาทภาระกิจของศูนย์อนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่าต่างประเทศ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2547 ซึ่งมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ รักษา และขยายพันธุ์พืชป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยให้เป็นไปตามสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งควบคุมและตรวจสอบการส่งออก นำเข้า หรือนำส่งต่อเพื่อการค้าซึ่งชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ระบุไว้ในบัญชีของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) อีกด้วย



อาจารย์ปริศนา คำชาย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการพัฒนานักศึกษา ได้กล่าวว่า “กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้นอกจากความรู้ในห้องเรียน เพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็มีสำคัญในการพัฒนานักศึกษา ด้านการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะที่จำเป็น จากการที่นักศึกษาได้ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆได้อย่างลึกซึ้ง และสร้างการเปลี่ยนแปลงจากการหาความรู้ที่อยู่มีในตำราเรียน สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ในรูปแบบการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับว่าที่นักกฎหมายรุ่นใหม่อีกด้วย”

ภาพ/ข่าว : งานสื่อสารองค์กร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

Scroll to Top