เปิดห้องเรียน นศ.เกษตรศาสตร์ มข. จากงานเกษตรภาคอีสานปีที่ 31 สู่ KKU SMART FLOWER FARM

งานวันเกษตรภาคอีสาน นับเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่งของจังหวัดขอนแก่น ที่หลายคนตั้งตารอคอย ไม่ว่าจะเป็น การรอชมนวัตกรรมทางการเกษตรใหม่ๆ รอซื้อผลิตผลทางการเกษตร รอชมนิทรรศการจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนร่วมในงาน ฯลฯ ซึ่งมีน้อยคนนักที่จะทราบถึงที่ไปที่มาของการจัดงานว่าแท้ที่จริงแล้ว งานวันเกษตรภาคอีสาน พัฒนามาจากงานวันขายผลิตผลการเกษตรของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งเน้นการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรที่ได้จากการฝึกงานของนักศึกษา นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้องค์ความรู้จากการลงมือทำ และ เพื่อขยายขอบข่ายของการจัดงานให้เกิดความยิ่งใหญ่ พร้อมกับเป็นการร่วมเฉลิมฉลองวันสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี  มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงจัดงานวันเกษตรภาคอีสานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ 31 ของการจัดงาน

สำหรับปีนี้มีพื้นที่การจัดงานหลักๆ ประกอบไปด้วย 8 โซน ซึ่ง “KKU SMART FLOWER FARM” นับเป็นอีกโซนหนึ่งที่นอกจากผู้เข้าชมงานจะได้ชมความงามของดอกไม้แล้ว พื้นที่กว่า 4 ไร่ 3 งาน แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ ฝึกฝน เรียนรู้การแก้ปัญหาจริง ของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกครั้งหนึ่ง

นายจักรกฤษณ์ เผอิญอ่อน นักศึกษาสาขาเกษตรนวัตกรรมชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

นายจักรกฤษณ์ เผอิญอ่อน นักศึกษาสาขาเกษตรนวัตกรรมชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า KKU Smart flower farm เป็นส่วนหนึ่ง ในรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สาขาเกษตรนวัตกรรม เริ่มเปิดปีแรกเมื่อพ.ศ.2562 ซึ่งปีนี้เปิดให้เยี่ยมชม ตรงกับช่วงการจัดงานเกษตรภาคอีสาน ปี2566 จึงพูดคุยกับเพื่อนๆว่า นอกจากผู้มาเที่ยวงานจะได้ชมความงดงามน่ารักของดอกไม้แล้ว อยากแก้ปัญหาเพิ่มพื้นที่การพักผ่อนหย่อนใจด้วย

“โดยทั่วไปแล้วงานเกษตรเป็นเพียงร้านค้าทางเดิน มีที่นั่งพักรับประทานอาหารไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้คนในงาน นักศึกษาสาขาเกษตรนวัตกรรมจึงคิดว่าควรเนรมิตแปลงเกษตรให้เป็นทั้งสวนดอกไม้ตระการตาและที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจแก่ผู้เที่ยวชมงาน ซึ่ง KKU SMART FLOWER FARM 2022 นี้ เป็นความร่วมมือร่วมใจของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 3 กว่า 80 คน ใช้เวลาเตรียมงานกว่า 5 เดือน มีการจัดสรรเวลาเพื่อมาลงแปลงปลูกดอกไม้ ช่วงต้นปีนักศึกษาต้องมาลงแปลงดูแลดอกไม้ทุกวัน เริ่มเช้าสุดคือ 06.00น. มีการแบ่งหน้าที่มอบหมายการทำงานให้ชัดเจน ดอกไม้ในแปลงประกอบไปด้วยบลูซัลเวียร์ ไวท์ซัลเวียร์ สร้อยไก่ 4 สี ดาวเรือง คอสมอส และทานตะวัน มีการนำนวัตกรรมการเกษตรมาใช้ ตั้งแต่การขึ้นแปลงด้วยการใช้รถแทนการใช้มือ และการใช้ระบบน้ำให้น้ำแบบอัตโนมัติ บางครั้งก็เจอปัญหา ต้นกล้าได้รับความเสียหายจากการถูกฝนกระแทกและปัญหาพื้นที่แปลงถูกน้ำขัง แต่พวกเราทุกคนก็ช่วยกัน จนออกมาเป็นแปลงดอกไม้ที่กลายเป็น Landmark แห่งใหม่ของงานเกษตรในครั้งนี้”

นอกจากโซน KKU SMART FLOWER FARM 2022 จะเป็นการได้เรียนรู้การทำงานจริงและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และ 3 แล้วพื้นที่เรียนรู้บริเวณเดียวกันยังเป็นพื้นที่ที่นักศึกษาชั้นปี 2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการรังสรรค์พื้นที่เป็นงานวัดจำลอง ที่มีซุ้มเกมให้เล่นหลากหลาย พร้อมกับเวทีและที่นั่งชมการแสดงวงโฟล์คซอง

นางสาวกรกนก ประยูร นักศึกษาสาขาเกษตรนวัตกรรมชั้นปีที่ 2 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ซุ้มเกมธีมงานวัดและวงดนตรีโฟล์คซองเป็นส่วนหนึ่งของ IA Party (Innovative Agriculture Party) จัดขึ้นควบคู่กับการเปิดให้เยี่ยมชมแปลงดอกไม้

“สาเหตุที่จัดเป็นธีมงานวัดเพราะต้องการดึงดูดให้คนมาร่วมงานเยอะๆ เพราะว่างานวัดเป็นกิจกรรมที่เข้าถึงง่าย มาร่วมกิจกรรมได้ทุกวัย ใครมาก็สนุก เพราะมี ซุ้มเกมปาลูกโป่ง ปาลูกบอล ปาลูกดอก ยิงหนังสติ๊ก และสอยดาวพร้อมด้วยของรางวัลมากมาย มีร้านอาหารอย่าง ขนมปังปิ้ง ลูกชิ้นนึ่ง และ น้ำหวาน มีการแสดงดนตรี  ซึ่งพวกเรามีการแบ่งหน้าที่การทำงานและจัดสรรเวลาการทำงานอย่างเป็นระบบ มีหัวหน้าทีมประจำแต่ละซุ้ม และมีการประชุมสะท้อนผลกันวันต่อวัน เพื่อหาข้อผิดพลาดและดำเนินการแก้ไขให้งานออกมาเป็นที่น่าพึงพอใจ ซึ่งเราจะแสดงวงดนตรีโฟล์คซอง ทุกวันตั้งแต่เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป มีค่าเข้าชมแปลงดอกไม้และ IA Party ท่านละ 30 บาท เพื่อเป็นค่าบำรุงการจัดงาน”

 

จากงานวันเกษตรภาคอีสานที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก การจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรที่ได้จากการฝึกงานของนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมๆกับการสร้างพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนจากการลงมือทำ ที่ปีนี้ดำเนินมาถึงปี ที่31  ที่ KKU SMART FLOWER FARM เป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานครั้งนี้ แม้จะเป็นการฝึกฝนในรายวิชาของสาขาเพียงไม่กี่เดือน แต่นับเป็นอีกช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่สร้างประสบการณ์จริงจากการฝึกปฏิบัติและบูรณาการการเรียนการสอนให้ พร้อมปฏิบัติงานในวิชาชีพ รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีม พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นทักษะที่เปรียบเสมือนภูมิคุ้มกันติดตัวและเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการต่อยอดในอนาคต

เรื่อง : รวิพร สายแสนทอง , นางสาว พัชรพร เพ็ชรตะกั่ว นักศึกษาฝึกประสบการณ์ กองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภาพ : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ , เกษตรนวัตกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Open classroom for KKU agricultural students at the 31st Isan Agricultural Fair and KKU SMART FLOWER FARM

https://www.kku.ac.th/15975

 

Scroll to Top